product :

วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เหตุผลที่ไม่ร่วมปีใหม่! และข้อฉุกคิด (นานาทัศนคติ)

เหตุผลที่ไม่ร่วมปีใหม่! และข้อฉุกคิด (นานาทัศนคติ)



มุมมองของอิสลามต่อวันปีใหม่




การกล่าวคำอวยพรแสดงความยินดีแก่กาเฟรในวันสำคัญต่างๆ ของพวกเขา เช่น วันคริสต์มาส ,วันวาเลนไทน์ เป็นต้น หุก่มว่าอย่างไร ?? ชี้ขาดโดย สถาบันดารุลอิฟตาอฺ แห่งประเทศอียิปต์

ศาสนาอิสลามนั้น ส่งเสริมให้มุสลิมทำความดีและให้มีความเสมอภาคซึ่งกันและกัน ต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม จากบรรดาผู้ที่ไม่ได้ถูกต่อต้านในศาสนาของพวกเขา เช่นนั้นแหละ คือ ความต้องการที่จะให้เกิดขึ้นซึ่งความดีงามต่อบรรดาสิ่งที่ถูกสร้างทั้งหมด และเช่นเดียวกัน คือ ต้องการที่จะให้มนุษย์ได้พูดจาซึ่งกันและกันด้วยคำพูดที่ดีงาม ดังนั้น การติดต่อสัมพันธ์กัน ,การให้ของฝากกัน ,การเยี่ยมเยียนกัน และการกล่าวคำอวยพรแก่ผู้ที่มิใช้มุสลิมนั้น ถือว่าเป็นสิ่งต่างๆ ที่ดีงามยิ่ง

และด้วยเหตุนี้เอง จึงถือว่า อนุญาตให้กล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ที่มิใช่มุสลิม ในวันสำคัญต่างๆ ของพวกเขา ด้วยถ้อยคำที่ไม่ขัดแย้งกับหลักอะกีดะฮฺ (หลักการยึดมั่น) ของอิสลาม ซึ่งท่านรสูล (ซ.ล.) เคยรับของกำนัลจากผู้ที่มิใช่มุสลิม มีรายงานจากหะดีษเศาะหี๊ยะฮฺที่ให้ประโยชน์ในระดับขั้นมะวาติร (เชื่อถือได้อย่างแน่นอน) ว่า แท้จริงท่านรสูล (ซ.ล.) ได้รับของกำนัลจากผู้ที่มิใช่มุสลิม คือ ของกำนัลจากมะกูกัส อะซีม (ผู้นำชาวคริสเตียนแห่งไบแซนไตน์ ชาวอียิปต์) และได้มีรายงานมาจากท่านอะลีย์ บิน อะบีฏอลิบ (ร.ด.) กล่าวว่า ..

พระจักรพรรดิ แห่งเปอร์เซีย ได้มอบของกำนัลแก่ท่านรสูล (ซ.ล.) ดังนั้น ท่านก็ได้รับมันเอาไว้ และจักรพรรดิแห่งโรมันได้มอบของกำนัลให้แก่ท่านรสูล (ซ.ล.) ดังนั้น ท่านก็ได้รับไว้ และบรรดากษัตริย์ต่างๆ ก็ได้มอบของกำนัล ให้แก่ท่านรสูล (ซ.ล.) แล้วท่านรสูล (ซ.ล.) ก็ได้รับของกำนัลจากบรรดากษัตริย์เหล่านั้น” (บันทึกโดย ท่านอิมามอัต-ติรมีซีย์ และท่านอิมามอะห์มัด)

แท้จริงปวงปราชญ์แห่งอิสลามได้ทำความเข้าใจกับหะดีษนี้ว่า แท้จริงการรับของกำนัลจากผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมนั้น ถือว่าเป็นเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ เพราะมันเข้าอยู่ในเรื่องของความดีงาม และแท้จริงมันคือ แบบฉบับจากท่านนบี (ซ.ล.)

ท่านอัซ-ซารอคซีย์ ได้กล่าวหลังจากที่ได้พูดถึงการให้ของกำนัลของท่านรสูล (ซ.ล.) แก่มุชริกีนว่า : การให้ของกำนัลแก่คนอื่นนั้น ถือเป็นมารยาทที่ดีงาม และท่านรสูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า ..

بعثت لأتمم مكارم الأخلاق 

ฉันได้ถูกส่งมาให้แก่ประชาชาติทั้งหลาย เพื่อเป็นแบบฉบับที่ดีงาม

ดังนั้น ทำให้เราทราบว่าแท้จริงนี้เป็นสิ่งที่ดีงามในสิทธิของบรรดามุสลิมและสิทธิของบรรดามุชริกีนทั้งหมด.

ดู ตำรา شرح السير الكبير โดย ท่านอิมามอัซ-ซารอคซีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 96

ทุกสิ่งที่กล่าวมาจากอายะฮฺอัล-กุรอาน จากสุนนะฮฺของท่านรสูล (ซ.ล.) จากความเห็นของปราชญ์อิสลาม เรามีความเห็นว่า แท้จริงการกล่าวอวยพรแสดงความยินดีแก่กาเฟรนั้น ถือว่า เป็นหนึ่งในมารยาทที่ดีงาม ในการเชื่อมความสัมพันธ์กันระหว่างมุสลิมกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมในทุกๆ สภาพการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการไปเยี่ยมเยียนกัน ,การปลอบใจกัน ,การอวยพรแสดงความยินดีกัน ,การให้ของฝากกัน ,การรับของฝากกัน, การเลี้ยงอาหารกัน และอื่นๆ อีกมากมายจากสิ่งที่ดีๆ แท้จริงสิ่งนี้คือ หนึ่งในรูปแบบของการเรียกร้องเชิญชวนไปสู่แนวทางแห่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ด้วยกับมารยาที่ดีงาม

ฟัตวาโดย สถาบันชี้ขาดปัญหาศาสนา ดารุลอิฟตาอฺ แห่งประเทศอียิปต์ บทว่าด้วย "เรื่องทั่วไป"
read more "เหตุผลที่ไม่ร่วมปีใหม่! และข้อฉุกคิด (นานาทัศนคติ)"

วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560

วิธีละหมาดสุริยุปราคาและจันทรุปราคา

วิธีละหมาดสุริยุปราคาและจันทรุปราคา



สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ดวงจันทร์มีดิถีตรงกับจันทร์ดับ เมื่อสังเกตจากพื้นโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ โดยอาจบังมิดหมดทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้

ในแต่ละปีสามารถเกิดสุริยุปราคาบนโลกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 5 ครั้ง ในจำนวนนี้อาจไม่มีสุริยุปราคาเต็มดวงเลยแม้แต่ครั้งเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน 2 ครั้ง โอกาสที่จะได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงสำหรับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งบนพื้นโลกนั้นค่อนข้างยาก เนื่องจากสุริยุปราคาเต็มดวงแต่ละครั้งจะเกิดในบริเวณแคบ ๆ ภายในแถบที่เงามืดของดวงจันทร์พาดผ่านเท่านั้น



จันทรุปราคา มีเรียกหลายชื่อ เช่น จันทรคาธ, จันทรคราส, ราหูอมจันทร์ หรือ กบกินเดือน เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์ผ่านหลังโลกเข้าสู่อัมบรา (umbra) โดยตรง ซึ่งเกิดขึ้นได้เฉพาะเมื่อดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์เรียงตรงกันพอดีหรือใกล้เคียงมาก โดยมีโลกอยู่กลาง ชนิดและระยะของอุปราคาขึ้นอยู่กับตำแหน่งของดวงจันทร์เทียบกับปมวงโคจร (orbital node)


สุริยุปราคา ตรงกับภาษาอาหรับว่า กุสูฟ คือ การที่แสงตะวันถูกบังไปหมดหรือหายไปบางส่วนในเวลากลางวัน

จันทรุปราคา ตรงกับภาษาอาหรับว่า คุสูฟ คือ การที่แสงจันทร์หายไปหมดหรือหายไปบางส่วนในเวลากลางคืน


หุก่มการละหมาดคุสูฟและกุสูฟ

การละหมาดคุสูฟและกุสูฟเป็นสุนัตมุอักกะดะฮฺ สำหรับมุสลิมและมุสลิมะฮฺทุกคน ไม่ว่าจะเป็นในยามเดินทางหรือไม่ก็ตาม

การรู้เวลากุสูฟและคุสูฟ

คุสูฟและกุสูฟนั้นมีกำหนดเวลาที่ชัดเจนเหมือนกับการขึ้นของดวงตะวันและดวงจันทร์ ซึ่งมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน โดยปรกติแล้วอัลลอฮฺจะกำหนดให้กุสูฟนั้นปรากฏในท้ายของเดือน และกำหนดให้คุสูฟนั้นปรากฎในระหว่างที่มันเต็มเดือนอยู่เรียกว่าวันบีฎ

สาเหตุของการกุสูฟและคุสูฟ

เมื่อเกิดกุสูฟหรือคุสูฟให้มุสลิมรีบไปละหมาดที่มัสญิด หรือที่บ้านก็ได้ แต่ที่มัสญิดนั้นดีกว่า ด้วยการเกิดแผ่นดินไหวนั้นมีสาเหตุ ฟ้าแลบก็มีสาเหตุ ภูเขาไฟระเบิดก็มีสาเหตุ การกุสูฟและคุสูฟก็ย่อมมีสาเหตุที่อัลลอฮฺกำหนดให้เช่นกัน ซึ่งเคล็ดลับก็คือการเตือนบ่าวของอัลลอฮฺให้มีความกลัวในโทษของพระองค์และมอบตัวเองและกลับคืนสู่อัลลอฮฺ

ช่วงเวลาของการละหมาดกุสูฟและคุสูฟ

เริ่มละหมาดได้เมื่อเริ่มมีปรากฏการณ์กุสูฟและคุสูฟจนกระทั่งกลับสู่สภาพปรกติ

ลักษณะการละหมาดกุสูฟและคุสูฟ

การละหมาดกุสูฟและคุสูฟไม่มีการอะซานและอิกอมะฮฺ แต่ว่ามีการเรียกให้มาละหมาดไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน โดยใช้ประโยคว่า (الصلاة جامعة) จะกล่าวครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้
หลังจากนั้นให้อิมามตักบีรฺแล้วอ่านฟาติหะฮฺและสูเราะฮฺที่ยาวด้วยเสียงดัง แล้วจึงรุกูอฺด้วยการรุกูอฺที่นาน แล้วเงยขึ้นจากรุกูอฺพร้อมกับกล่าว

(سمع الله لمن حمده، ربنا ولك الحمد)

โดยไม่ต้องลงไปสุญูดก่อน แต่ให้เริ่มอ่านฟาติหะฮฺใหม่อีกครั้ง ตามด้วยสูเราะฮฺที่สั้นกว่าครั้งแรก แล้วจึงรุกูอฺด้วยการรุกูอฺที่สั้นกว่าครั้งแรก แล้วเงยขึ้นจากรุกูอฺ แล้วจึงสุญูดด้วยการสุญูดที่นานสองสุญูด โดยสุญูดครั้งแรกให้นานกว่าครั้งที่สองและให้นั่งระหว่างสองสุญูดด้วย หลังจากนั้นให้ลุกขึ้นทำร็อกอะฮฺที่สองโดยทำเหมือนกับร็อกอะฮฺแรกทุกประการ เพียงแต่ให้สั้นกว่านิดหน่อย แล้วจึงกล่าวตะชะฮฺฮุด แล้วจึงให้สลาม




ลักษณะคุฏบะฮฺในการละหมาดกุสูฟ

สุนัตให้อิมามกล่าวคุฏบะฮฺหลังจากละหมาด โดยมีเนื้อหาการสอนสั่งให้ผู้คนทำดี และกล่าวตักเตือนให้นึกถึงปรากฎการณ์อันใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นนี้เพื่อโน้มน้าวจิตใจ แล้วใช้ให้ผู้คนดุอาและอิสติฆฺฟารฺให้มากๆ

มีรายจากท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า:


خَسَفَتِ الشَّمْسُ فِي عَهْدِ رَسُولِ الله صلى الله عليه وسلم ، فَقَامَ رَسُولُ الله صلى الله عليه وسلم يُصَلِّي، فَأطَالَ القِيَامَ جِدّاً، ثُمَّ رَكَعَ فَأطَالَ الرُّكُوعَ جِدّاً، ثُمَّ رَفَعَ رَأْسَهُ فَأطَالَ القِيَامَ جِدّاً، وَهُوَ دُونَ القِيَامِ الأوَّلِ، ثُمَّ رَكَعَ فَأطَالَ الرُّكُوعَ جِدّاً، وَهُوَ دُونَ الرُّكُوعِ الأوَّلِ، ثُمَّ سَجَدَ.
ثُمَّ قَامَ فَأطَالَ القِيَامَ، وَهُوَ دُونَ القِيَامِ الأوَّلِ، ثُمَّ رَكَعَ فَأطَالَ الرُّكُوعَ، وَهُوَ دُونَ الرُّكُوعِ الأوَّلِ، ثُمَّ رَفَعَ رَأْسَهُ فَقَامَ، فَأطَالَ القِيَامَ، وَهُوَ دُونَ القِيَامِ الأوَّلِ، ثُمَّ رَكَعَ فَأطَالَ الرُّكُوعَ، وَهُوَ دُونَ الرُّكُوعِ الأوَّلِ، ثُمَّ سَجَدَ.
ثُمَّ انْصَرَفَ رَسُولُ الله صلى الله عليه وسلم وَقَدْ تَـجَلَّتِ الشَّمْسُ، فَخَطَبَ النَّاسَ فَحَـمِدَ الله وَأثْنَى عَلَيْـهِ، ثُمَّ قال: «إنَّ الشَّمْسَ وَالقَمَـرَ مِنْ آيَاتِ الله، وَإنَّهُـمَا لا يَنْخَسِفَانِ لِـمَوْتِ أحَدٍ وَلا لِـحَيَاتِـهِ، فَإذَا رَأيْتُـمُوهُـمَا فَكَبِّرُوا، وَادْعُوا الله وَصَلُّوا وَتَصَدَّقُوا، يَا أمَّةَ مُـحَـمَّدٍ! إنْ مِنْ أحَدٍ أغْيَرَ مِنَ الله أنْ يَزْنِيَ عَبْدُهُ أوْ تَزْنِيَ أمَتُـهُ، يَا أمَّةَ مُـحَـمَّدٍ! وَالله! لَوْ تَعْلَـمُونَ مَا أعْلَـمُ لَبَكَيْتُـمْ كَثِيرًا وَلَضَحِكْتُـمْ قَلِيلا، ألا هَلْ بَلَّغْتُ؟»

ความว่า “ได้เกิด(กุสูฟ)สุริยุปราคาขึ้นในสมัยของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านจึงได้ออกไปละหมาดโดยยืนละหมาดนานมาก แล้วท่านจึงรุกูอฺเป็นเวลานาน เสร็จแล้วท่านได้เงยศรีษะและได้ยืนขึ้น แล้วยืนละหมาดนานอีก แต่น้อยกว่าการยืนในครั้งแรก หลังจากนั้นท่านก็รุกูอฺนานอีก แต่น้อยกว่าการรุกูอฺในครั้งแรก หลังจากนั้นท่านก็สุญูด แล้วท่านก็ลุกขึ้นยืนละหมาดในร็อกอะฮฺที่สองนานอีก แต่น้อยกว่าการยืนในร็อกอะฮฺแรก หลังจากนั้นท่านจึงรุกูอฺเป็นเวลานาน เสร็จแล้วท่านได้เงยศรีษะและได้ยืนขึ้น แล้วยืนละหมาดนานอีก แต่น้อยกว่าการยืนในครั้งแรก หลังจากนั้นท่านก็รุกูอฺนานอีก แต่น้อยกว่าการรุกูอฺในครั้งแรก หลังจากนั้นท่านก็สุญูด แล้วท่านจึงเสร็จละหมาด เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่นออก

หลังจากนั้นท่านก็ได้ยืนขึ้นกล่าวตัหฺมีดและชุกูรฺอัลลอฮฺ แล้วกล่าวแก่ผู้คนว่า แท้จริงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้นเป็นสัญญานแห่งความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ ฉะนั้นการเกิดสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคาไม่ใช่เกิดเพราะตายหรือการเกิดของผู้ใด เมื่อพวกท่านเห็นมันก็จงกล่าวตักบีรฺ แล้วดุอาต่ออัลลอฮฺ และจงละหมาดและเศาะดะเกาะฮฺ โอ้ประชาชาติมุหัมมัดเอ๋ยไม่มีผู้ใดที่จะห่วงเกินไปกว่าอัลลอฮฺในการที่บ่าวชายของพระองค์จะซินาหรือบ่าวหญิงของพระองค์จะซินา โอ้ประชาชาติมุหัมมัดเอ๋ย หากพวกท่านรู้ในสิ่งที่ฉันรู้แน่นอนพวกท่านย่อมร้องไห้มากและย่อมหัวเราะน้อย โอ้ ท่านทั้งหลาย ฉันได้บอกจนประจักษ์แล้วหรือไม่ ?”


(มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 1044 และมุสลิม เลขที่: 901 ซึ่งสำนวนนี้เป็นของมุสลิม)

การชดละหมาดกุสูฟและคุสูฟ

ถือว่าได้หนึ่งร็อกอะฮฺละหมาดกุสูฟสำหรับผู้ที่ทันในรุกูอฺแรกของทุกร็อกอะฮฺ และไม่จำเป็นต้องชดละหมาดกุสูฟ หากไม่ทันละหมาดเพราะปรากฏการณ์นั้นๆสิ้นสุดแล้ว

เมื่อการกุสูฟและคุสูฟสิ้นสุดลงในขณะที่ผู้คนกำลังละหมาดอยู่ ให้รีบทำให้เสร็จโดยละหมาดสั้นๆ และเมื่อละหมาดเสร็จแล้วแต่การกุสูฟและคุสูฟยังไม่สิ้นสุด ให้กล่าวดุอาอ์ ตักบีรฺและเศาะดะเกาะฮฺให้มากๆ จนกว่าจะสิ้นสุดการกุสูฟและคุสูฟ

ความเข้าใจเกี่ยวกับกุสูฟ

เป็นสิ่งที่ประจักษ์ว่าการกุสูฟนั้นทำให้จิตใจของคนโน้มเอียงไปสู่การเตาฮีดที่บริสุทธิ์ ยอมรับที่จะทำอิบาดะฮฺ ห่างไกลจากอบายมุขและบาป ยำเกรงต่ออัลลอฮฺและกลับเข้าหาอัลลอฮฺ

1- อัลลอฮฺได้กล่าวว่า

( وَمَا نُرْسِلُ بِالْآيَاتِ إِلَّا تَخْوِيفًا  (الإسراء/59

ความว่า “และเรามิได้ส่งสัญญานต่างๆ เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อเป็นเตือนสำทับเท่านั้น” (อัล-อิสรออ์ : 59)


2- มีรายงานจากท่านอบู มัสอูด อัล-อันศอรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า:

«إنَّ الشَّمْسَ وَالقَمَـرَ آيَتَانِ مِنْ آيَاتِ الله يُـخَوِّفُ الله بِـهِـمَا عِبَادَهُ، وَإنَّهُـمَا لا يَنْكَسِفَانِ لِـمَوتِ أَحَدٍ مِنَ النَّاسِ، فَإذَا رَأَيْتُـمْ مِنْـهُـمَا شَيْئاً فَصَلُّوا وَادْعُوا الله حَتَّى يُكْشَفَ مَا بِكُمْ»

ความว่า “แท้จริงดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้นเป็นสัญญานแห่งความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ เพื่อเป็นการเตือนสำทับบรรดาบ่าวของพระองค์ ฉะนั้นการเกิดสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคาไม่ใช่เกิดเพราะตายของผู้ใด เมื่อพวกท่านเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จงละหมาดและขอดุอาต่ออัลลอฮฺจนกว่ามันจะหายไป” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 1041 และมุสลิม เลขที่: 911 ซึ่งสำนวนนี้เป็นของมุสลิม)

หุก่มการละหมาดเมื่อเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ

มีบัญญัติว่าการละหมาดเมื่อเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ มีทั้งหมดหกร็อกอะฮฺและสี่สุญูด ในทุกๆ ร็อกอะฮฺมีสามรุกูอฺและสองสุญูด ส่วนสัญญานต่างๆ นั้นได้แก่ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด อุบัติภัย และอื่นๆ

วิธีการละหมาดกุสูฟและคุสูฟ แบบสรุป

วิธีการละหมาดกุสูฟและคุสูฟ อ่านฟาติหะห์+ซูเราะห์ 2 ครั้ง, รุกูอฺ 2 ครั้ง และสุญูด 2 ครั้ง โดยที่ให้การอ่านซูเราะห์ การรุกูอฺและการสุญูด ในครั้งที่ 2 นั้นสั้นกว่าครั้งแรก จากนั้นจึงนั่งตะชะฮุด แล้วจึงให้สลาม บุคอรีย์ (1044,1047,1050,1056) และมุสลิม (901)

นักวิชาการส่วนใหญ่ให้ละหมาดเป็น 2 รอกอัต โดยในทุกรอกอัตมี 2 รูกั๊วะ ท่านอีหม่ามนาวาวีให้อ่านค่อย ๆ ในกุสูฟ(สุริยุปราคา) และอ่านดังในคุสูฟ (จันทรุปราคา) ทั้งละหมาดกุสูฟและคุสูฟ เป็นสุนัตมุอักกะดะฮ์ หากใครไม่ได้ละหมาดในเวลาที่กำหนดก็ไม่มีบทบัญญัติให้ชดใช้

  • การละหมาดทั้งสองมีสองรอกอัต
  • หลังจากเหนียตและตักบีรละหมาดแล้ว ให้อ่านดุอาอิสติฟตาห์
  • แล้วกล่าวอะอูซุบิลแลฮิมินัซซัยตอนิรรอญีม บิสมิลแลฮ์ฯ ฟาติฮะห์ และซูเราะฮ์ตามลำดับ
  • เสร็จแล้วให้รูกั๊วะ
  • เสร็จแล้วเงยขึ้นมาเอี๊ยะติดาล แล้วอ่านซูเราะฮ์ฟาตีฮะห์ อีกครั้งหนึ่ง
  • เสร็จแล้วให้รูกั๊วะอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในครั้งนี้ให้มีความนานในการรูกั๊วะน้อยกว่าครั้งแรก
  • เสร็จแล้วให้เอี๊ยะติดาลอีกครั้งหนึ่ง
  • แล้วสุหยูดสองครั้งโดยให้ทั้งสองสุหยูดมีตอม๊ะนีนะฮ์ (นิ่งครู่หนึ่งในสุหยูดทั้งสองด้วย)
  • แล้วให้ยืนนิ่งทำรอกอัตที่สอง ด้วยสองยืน สองการอ่าน และสองรูกั๊วะ สองเอี๊ยะติดาลและสองสุหยูด
  • ในการรูกั๊วะทุกครั้งให้อ่านตัสเบียะห์นาน ๆ แต่ไม่ต้องสุหยูดนาน ๆ หรือจะสุหยูดนานๆ ด้วยก็ได้
  • หลังจากให้สล่ามในการละหมาดแล้ว ให้อีหม่ามอ่านคุตบะฮ์ ซึ่งมีรู่ก่นชะรัต และละหมาดโดยทั่วไปเหมือนคุตบะฮ์ในละหมาดญุมอัต โดยให้มีเนื้อหาเชิญชวนให้ทำ เตาบะฮ์ (ขออภัย) และกระทำความดี เช่น การทำซอดะเกาะฮ์ เป็นต้น

เวลาของการละหมาดหมดสิ้นเมื่อดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ทอแสงได้เต็มดวง หรือเมื่อลับขอบฟ้าในกรณีที่เป็นกุสูฟ(สุริยุปราคา) หรือเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นในกรณีที่เป็นคุสูฟ (จันทรุปราคา)

*อนึ่ง ด้วยการอ่านสุนัตต่างๆ เหมือนการละหมาดทั่วไป เช่น ดุอาอิสติฟตาห์ การอ่านซูเราะห์ การกล่าวหลังจากยืนตรงเมื่อขึ้นจากรุกัวะ (ร๊อบบะนาละกัลลอฮัมดฺ) เป็นต้น

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
แปลโดย : ดานียา เจะสนิ
ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์
จากหนังสืออัล-บาญูรีย์ เล่ม 1หน้า 228-231





#นิติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
#สารพันบทความ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



read more "วิธีละหมาดสุริยุปราคาและจันทรุปราคา"

วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

มูฮัมหมัด อัลฟาติฮ (Muhammad Alfatih) ผู้พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล

มูฮัมหมัด อัลฟาติฮ (Muhammad Alfatih) ผู้พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล




สุลต่านมุหัมมัดที่ 2 (อัลฟาตีห์) (ปกครองระหว่างปี 855-886 ฮ.ศ.)

1) กำเนิดสุลต่านมุหัมมัด

ท่านคือสุลต่านมุหัมมัด บุตร สุลต่านมุรอด บุตร สุลต่านมุหัมมัดที่ 1 ประสูตเมื่อวันที่ 26 เดือนรอญับ ปี ฮ.ศ. 833 ขึ้นครองราชย์หลังจากการเสียชีวิตของบิดาเมื่อปี ฮ.ศ. 855  ในขณะที่มีอายุได้เพียง 22 ปี ก่อนหน้าที่สุลต่านมุหัมมัดจะขึ้นครองราชย์ ท่านได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสุลต่านแทนผู้เป็นบิดาแล้วถึงสองครั้ง ต่อมาก็ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ ณ เมืองแมกนีเซีย และยังเคยออกศึกพร้อมกับผู้เป็นบิดาในครั้งที่ยกทัพไปตีเมืองอิสกันดารและโฮเนียดหรือออสเตรีย

2) บุคลิกของสุลต่านมุหัมมัด

นักประวัติศาสตร์ต่างมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าสุลต่านมุหัมมัดที่ 2 นี้ เป็นสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมานคนหนึ่งที่มีจริยธรรมที่สูงส่งตั้งแต่ยังเยาว์ สุลต่านได้รับการอบรมและการศึกษาจากบรรดาอุลามาอฺผู้โด่งดังในสมัยนั้น โดยเฉพาะเชคอากชำสุดดีน และเชคมุลลาโกรอนีย์ ซึ่งท่านทั้งมีบทบาทอย่างมากในการปลูกฝังนิสัยของสุลต่านมุหัมมัด สุลต่านเป็นคนที่ชอบศึกษาด้านภาษาต่างๆ เป็นคนที่มีพรสวรรค์ในการพูดจาปราศรัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาตุรกี พร้อมกันนี้สุลต่านยังเก่งและแตกฉานด้านภาษาอาหรับ เปอร์ซีย กรีก อิบรู และภาษาอิตาลี. สุลต่านเป็นคนที่ชอบอ่านคำกลอนเปอร์เซีย และกรีก จนท่านกลายเป็นนักกลอนที่ดีคนหนึ่ง สุลต่านยังเป็นคนที่มีนิสัยชอบศึกษาเกี่ยวกับปรัชญา ประวัติศาสตร์ ตั้งแต่อายุยังเยาว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวประวัติคนสำคัญๆ และการสู้รบ ประวัติจักรพรรดิไกเซอร์ และอื่นๆ. สุลต่านชอบศึกษาเกี่ยวกับการสงครามที่มีเล่ห์เหลี่ยม หลอกล่อ อาวุธการต่อสู้ การวางแผนการรบ และการจัดเสบียงอาหารในสนามรบ เป็นต้น

สุลต่านมุหัมมัดเป็นคนที่มีนิสัยชอบทำสวนในเวลาที่ว่างจากการสงคราม สุลต่านจะใช้เวลาว่างของท่านให้หมดไปกับการทำสวนในเขตพระราชวัง ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ และอื่นๆ ถึงกระนั้นสุลต่านยังคงมีใจรักการวางแผนและระเบียบไม่ว่าในด้านการบริหารหรือการทหาร

ในช่วงที่สุลต่านมุหัมมัดสถาปนาเป็นสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมานนั้น ประเทศในแถบเอเซียน้อยส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอิสลามออตโตมานแล้ว ยกเว้นบางส่วนของประเทศกอรมาน ประเทศสีนูบ และประเทศเตาะรอบะซูน ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลดำเท่านั้น ส่วนใหญ่ในแถบยุโรปนั้นประเทศที่ยังไม่ได้ถูกพิชิตก็มีเพียงกรุงคอนสแตนติโนเปิลและประเทศใกล้เคียงเท่านั้น . ส่วนประชากรโลกในขณะนั้น (ปี ค.ศ. 1453) ยังมีไม่มากเหมือยอย่างปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 400,000,000 คน โดยจำแนกได้ดังนี้คือ ประมาณ 275,000,000 อาศัยอยู่ในแถบเอเชีย อีกประมาณ 70,000,000 อาศัยอยู่ในแถบยุโรป อีกประมาณ 40,000,000 อาศัยอยู่ในแถบอัฟริกา และอีกประมาณ 15,000,000 อาศัยอยู่ในแถบอเมริกา

3) บทบาทและเหตุการณ์สำคัญของสุลต่านมูหัมัด อัลฟาตีห์

3.1 การพิชิตประเทศต่างๆ ในแถบยุโรป
3.1.1 ประวัติการก่อตั้งกรุงคอนสแตนติโนเปิล
คำว่า “คอนสแตนติโนเปิล” มาจากคำว่า “คอนสแตนติน” ซึ่งเป็นชื่อของจักรพรรดิผู้ก่อตั้งกรุงแห่งนี้ และคำว่า “โอเปิล” ซึ่งแปลว่า “เมือง หรือนคร” ดังนั้นคอนสแตนติโนเปิลจึงหมายถึง “นครหรือกรุงคอนสแตนติน” นั้นเอง

กรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไบแซนไทน์หรืออาณาจักรโรมันตะวันออก ซึ่งสร้างขึ้นโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินบุตรของคอนสแตนตินัสแห่งโรมัน ก่อนหน้าที่เมืองหลวงอาณาจักรโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทน์จะย้ายมาอยู่ ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิลแห่งนี้ อาณาจักรไบแซนไทน์มีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงโรมา ต่อมาหลังจากที่จักรพรรดิคอนสแตนตินขึ้นครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 306-307 ก็เริ่มมองหาทำเลใหม่ที่เหมาะสมเพื่อเปลี่ยนสถานที่ตั้งเมืองหลวง อันสืบเนื่องมาจากความแตกแยกภายในซึ่งเป็นเหตุทำให้ทั่วราชอาณาจักรไบแซนไทน์ เกิดความทรุดโทรมและหายนะเป็นอย่างมาก ความหายนะดังกล่าวทำให้อาณาจักรไบแซนไทน์หรือโรมันตะวันออกไม่มีเสถียรภาพและเกิดความระส่ำระสายและบ่งย้ำเตือนถึงความพินาศย่อยยับในเวลาอันใกล้ และแล้วจักรพรรดิคอนสแตนตินก็พบกับเมืองใหม่ที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเป็นเมืองหลวงซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองหลวงระหว่างเอเชียกับยุโรป ดังนั้นในปี ค.ศ. 324 จักรพรรดิคอนสแตนตินจึงได้ยกทัพไปยึดเมืองดังกล่าว และได้ทำการบูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงเมืองใหม่ ด้วยการสร้างกำแพงและป้อมปราการต่างๆ ในปี ค.ศ. 324 การซ่อมแซมและบูรณะในครั้งนี้ใช้เวลาถึง 6 ปี และได้จัดงานเลี้ยงฉลองอย่างใหญ่โต หลังจากที่การก่อสร้างและซ่อมแซมให้แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 11 เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 330 และงานเลี้ยงฉลองในครั้งนี้กินเวลาถึง 40 วันด้วยกัน หลังจากนั้นจักรพรรดิคอนสแตนตินก็ทำการย้ายเมืองหลวงจากกรุงโรมา มาอยู่ที่เมืองใหม่แห่งนี้และได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “คอนสแตนติโนเปิล” ตามชื่อของจักรพรรดิ

นับตั้งแต่นั้นมากรุงคอนสแตนติโนเปิลแห่งนั้นก็กลายเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทน์ตลอดมา

3.1.2 ลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และความสำคัญ




กรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่สวยงามอย่างยิ่งอย่างไม่มีที่เทียบได้ ตั้งอยู่ในเขตทวีปเอเชียและทวีปยุโรปมาบรรจบกันและถูกล้อมรอบด้วยมหาสมุทรทั้งสามทิศ ซึ่งตั้งอยู่เป็นรูปสามเหลี่ยม โดยด้านทิศตะวันออกติดกับช่องแคบบอสฟอรัส (BOSFORUS) ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับทะเลมารมารา (MARMARA SEA) และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับท่าเรือที่ทอดยาวคล้ายรูปคันธนู ชื่อก้อรนุน ซะฮะบีย์ (GORDEN HORN) ซึ่งถือว่าเป็นท่าเรือที่ยาวและปลอดภัยที่สุดท่าเรือหนึ่งของโลก ส่วนทิศที่สามซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกติดกับยุโรป โดยมีกำแพงใหญ่อันแข็งแก่งสองชั้นกั้นไว้อย่างหนาแน่นมีความยาวถึง 4 ไมล์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ชายฝั่งทะเลมารมาราทอดยาวไปจนถึงชายฝั่งของท่าเรือก้อรนุน ซะฮะบีย์

ภาพพระอาทิตย์ตกดิน ณ เมืองเฟเนบาร์เช่
ซึ่งตั้งอยู่ในทะเล Marmara ในกรุงคอนสแตนติโนเปิล
กรุงคอนสแตนติโนเปิลไม่เพียงแต่มีสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่งดงามเท่านั้น มันยังมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและพื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วย และมีสภาพอากาศที่อบอุ่นอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งสภาพทางอากาศจะไม่ร้อนจัดในช่วงฤดูร้อนและจะไม่หนาวจัดอีกเช่นกันในช่วงฤดูหนาว และสืบเนื่องจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลมีเขตแดนที่บรรจบกับทะเลถึงสองฟาก จึงทำให้กรุงคอนสแตนติโนเปิลกลายเป็นเมืองท่าที่เป็นเส้นทางค้าขายที่สำคัญยิ่ง เพราะสินค้าทุกอย่างที่เดินทางมากับเรือที่มาจากจีน อินเดีย และอาหรับล้วนแต่ต้องผ่านและจอดเทียบท่าเรือกรุงคอนสแตนติโนเปิลหรือท่าเรือก้อรนุน ซะฮะบีย์ทั้งสิ้นก่อนที่จะเดินทางมุ่งไปยังยุโรปต่อไป

ภาพของเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณของช่องแคบ Bosphorus 

กรุงคอนสแตนติโนเปิลไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กลางการค้าขายเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตในแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนทั้งหมด ซึ่งได้ทำการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระดาษปาปิรัส สิ่งทอต่างๆ และผลิตภัณฑ์กระจก ยิ่งกว่านั้นกรุงคอนสแตนติโนเปิลยังมีนโยบายเฉพาะด้านเศรษฐกิจหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการผูกขาดด้านการผลิตและซื้อขายเหรียญกษาปณ์

3.1.3 ความสำคัญด้านยุทธศาสตร์
เนื่องจากสภาพที่ตั้งของกรุงสแตนติโนเปิลอยู่ในทำเลที่เต็มไปด้วยการป้องกันด้านยุทธศาสตร์ที่ยากแก่การรุกรานและโจมตี จึงทำให้กรุงแห่งนี้เป็นที่หมายปองของบรรดาผู้ปกครองทั้งหลายเพื่อที่จะยึดเอากรุงแห่งนี้ไว้เป็นศูนย์บัญชาการทางทหารหรือเมืองหลวงของตนนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เกี่ยวกับความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ของกรุงคอนสแตนติโนเปิลนี้จอมทัพนโปเลียนโบนาปาร์ตกล่าวว่า :
“หากแม้นว่าโลกนี้ทั้งโลกมีเพียงอาณาจักรเดียว แน่นอนอย่างยิ่งว่ากรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดที่จะเป็นเมืองหลวง”
นโปเลียนยังได้กล่าวในบันทึกส่วนตัวของท่านซึ่งได้เขียนในขณะที่ท่านถูกเนรเทศอยู่ที่เกาะสันติลานาว่า:“เขาได้ใช้ความพยายามหลายต่อหลายครั้งเพื่อทำความตกลงกับรัสเซียในเรื่องการแบ่งปันเมืองอาณานิคมของอาณาจักรออตโตมาน แต่ทุกครั้งที่กล่าวถึงกรุงคอนสแตนติโนเปิลก็จะเกิดปัญหาการโต้แย้งขึ้นมาทันที จนกระทั่งไม่สามารถทำการตกลงกันได้ เพราะรัสเซียพยายามจะผลักดันให้แบ่งกรุงคอนสแตนติโนเปิลให้กับเขา ส่วนนโปเลียนเห็นว่า “กรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่ดีเยี่ยม ซึ่งมันเปรียบเสมือนกุญแจโลก หากใครได้ครอบครองมันแล้วก็เท่ากับว่าเขาได้ครอบครองโลกนี้ทั้งโลกเลยทีเดียว”

3.1.4 ฮะดีษที่กล่าวถึงกรุงคอนสแตนติโนเปิล
มีฮะดีษมากมายที่กล่าวถึงกรุงคอนสแตนติโนเปิลทั้งที่เกี่ยวกับการพิชิตเมืองและสัญญาณวันสิ้นโลก ดังต่อไปนี้

1 عنابىهريرةأنرسولاللهصلياللهعليهوسلمقال "لاتقومالساعةحتىينزلالرومبالاعماقأوبدابقفيخرجاليهمجيشمنالمدينةمنخيارأهلالأرضيومئذفاذاتصافواقالتالرومخلوابينناوبينالذيسبوامنانقاتلنفيقولوالمسلمونلاواللهلانخليبينكموبيناْخواننانقاتلونهمفينهزمثلثلايتوباللهعليهمأبداويقتلثلثهماْفضلالشهداءعنداللهويفتتحالثلثلايفتنونأبدافيفتتحونالقسطنطينية


1. อบูฮุรอยเราะห์เล่าว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า :
“วันกิยามัตจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าชาวโรมันจะยกทัพไปยังเมืองอิอ์มากหรือดาบิก และแล้วกองทหารจากนครมดีนะห์ซึ่งเป็นประชาชาติที่ประเสริฐที่สุดในขณะนั้นจึงได้ยกทัพไปเผชิญหน้ากับพวกเขา แล้วชาวโรมันก็กล่าวขึ้นว่า “จงหลีกทางระหว่างเราและผู้ที่ถูกจับเป็นเชลยศึกในหมู่พวกเรา (หมายถึงชาวโรมันที่เข้ารับอิสลาม) เราจะฆ่าพวกเขา” มุสลิมจึงค้านขึ้นมาว่า “ไม่! ด้วยพระนามของอัลลอฮ เราจะไม่หลีกทางให้พวกเจ้าฆ่าฟันสหายของเราเป็นอันขาด” ดังนั้นจึงเกิดการต่อสู้กัน จนหนึ่งในสามของพวกเขาต้องพ่ายแพ้ และอัลลอฮจะไม่ทรงให้อภัยแก่พวกเขาตลอดไป อีกหนึ่งในสามของพวกเขาถูกฆ่าตายและเป็นชาวซูฮาดาอ์ (ผู้ที่ตายในหนทางของอัลลอฮ) ที่ประเสริฐที่สุดของอัลลอฮ และอีกส่วนหนึ่งของพวกเขาทำการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลโดยที่พวกเขาไม่ได้รับการคุกคามแต่อย่างใด และแล้วพวกเขาก็สามารถเปิดกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ”

2 عنأمحرامأنهاسمعتالنبيصلىاللهعليهوسلميقول: أولجيشمنأمتييغزونمدينةقيصرمغفورلهم ,فقلت: أنافيهميارسولالله؟قال : لا..."وهيالقسطنطينية

2. อุมมุฮิรอมเล่าว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวาซัลลัม กล่าวว่า :
“กองทัพแรกจากประชาชาติของฉันที่ทำสงครามกับนครแห่งกษัตริย์ไกเซอร์จะได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮ” ดังนั้นฉันจึงกล่าวว่า “โอ้ท่านรอซูล! ฉันเป็นหนึ่งในหมู่พวกเขาด้วยใช่ไหม” ท่านตอบว่า “ไม่…มันคือกรุงคอนสแตนติโนเปิล”

3 عنعوفبنمالكقال : قالرسولاللهصلىاللهعليهوسلم : اعداد
ستانينيديالساعة : .......... ( ومنها ) : وفتحالقسطنطينية

3. เอาฟ์ บิน มาลิก เล่าว่าท่ารอซูล ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวาซัลลัม กล่าวว่า :
“จงนับ 6 อย่างที่จะเกิดขึ้นระหว่างการสิ้นโลก (หนึ่งในจำนวนนั้นคือ) และการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล”

4عنمعاذبنجبلقال : قالرسولاللهصلىعليهوسلم : عمرانبيتالمقدسخرابيثرب , وخرابيثربخروبالملحمة،وخروجالملحمةفتحالقسطنطينية،وفتحالقطنطينيةخروجالدجال .

4. มุอาซ บิน ญะบัลเล่าว่าท่านรอซุล ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวาซัลลัม กล่าวว่า :
“การบูรณะอัลกุดส์คือการล่มสลายของยัซริบ (มดีนะห์) และการล่มสลายของยัซริบคือเกิดการสู้รบ และการสู้รบคือการเปิดกรุงคอนสแตนติโนเปิล และการเปิดกรุงคอนสแตนติโนเปิลคือการออกมาของดัจญัล”

5 عنبشراالغنويعنالنبيصلىاللهعليهوسلمقال : " لتفتحنالقسطنطينيةولنعمالأميرأميرها،ولنعمالجنشذلكالجيش "

5. บิซร์ อัลเฆาะนะวีย์ เล่าว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวาซัลลัม กล่าวว่า :
“แท้จริงกรุงคอนสแตนติโนเปิลจะถูกพิชิตโดยพวกเจ้า และแท้จริงอะมีรที่ดีที่สุด คืออะมีรที่สามารถพิชิตมัน และแท้จริงกองทหารที่ดีที่สุดคือกองทหารของอะมีรนั้น”

6. อบูฮุรอยเราะห์เล่าว่า ท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวาซัลลัม กล่าวว่า :
“พวกเจ้าเคยได้ยินชื่อเมืองที่ส่วนหนึ่งของมันติดกับพื้นดินและอีกส่วนหนึ่งของมันติดกับทะเลหรือไม่ ?” พวกซอฮาบะห์ตอบว่า “ใช่ โอ้ท่ารอซูล” ดังนั้นท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิว่าซัลลัมจึงกล่าวว่า “วันสิ้นโลกจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะมีลูกหลานของบนีอิสฮากจำนวน 70,000 ทำสงครามกับมัน พอพวกเขาได้ไปถึงยังเมืองดังกล่าว พวกเขาจะตั้งค่ายอยู่ตรงนั้นโดยที่พวกเขาไม่ได้ทำสงครามด้วยอาวุธและไม่ได้ยิงด้วยธนูแต่อย่างใด เพียงแต่พวกเขากล่าวคำว่า “ลาอิลาฮาอิลลัลลอฮ วัลลอฮูอักบัร” เท่านั้นเองฟากที่ติดกับทะเลของเมืองนี้ก็จะถูกพิชิตลง แล้วพวกเขาก็กล่าวอีกเป็นครั้งที่สอง “ลาอิลาฮาอิลลัลลอฮ วัลลอฮูอักบัร” ดังนั้นอีกฟากหนึ่งที่ติดกับพื้นดินก็ถูกพิชิตลงอีก หลังจากนั้นพวกเขาจึงกล่าวเป็นครั้งที่สาม “ลาอิลาฮาอิลลัลลอฮ วัลลอฮูอักบัร” อัลลอฮจึงเปิดเมืองให้กับพวกเขา ดังนั้นพวกเขาจึงเดินทางเข้าไปในเมืองและทำการยึดทรัพย์สิน ในขณะที่พวกเขากำลังแบ่งปันทรัพย์สินอยู่นั้น ทันใดพวกเขาได้ยินเสียงร้องตะโกนขึ้นมาว่า แท้จริงดัจญาลได้ออกมาแล้ว ดังนั้นพวกเขาจึงทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างและเดินทางกลับ”

7. อับดุลลอฮ บินอัมรู บินอัลอาส เล่าว่า
“ในขณะที่พวกเรากำลังรายล้อมท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวาซัลลัม เพื่อเขียนคำพูดของท่าน ก็ได้มีชายคนหนึ่งกล่าวถาม ท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวาซัลลัม ขึ้นมาว่า :  “ระหว่างกรุงคอนสแตนติโนเปิลกับเมืองโรมา เมืองไหนจะถูกเปิดก่อน ?” ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวาซัลลัม ตอบว่า “เมืองเฮรเกิลจะถูกเปิดก่อน (หมายถึงกรุงคอนสแตนติโนเปิล)”

จากฮะดีษข้างต้นทำให้เข้าใจว่า การเปิดกรุงคอนสแตนติโนเปิลนั้นเกิดขึ้นสองครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเป็นการพิชิตด้วยการทำการศึกสงครามซึ่งเกิดขึ้นในสมัยการปกครองของอาณาจักรออตโตมานภายใต้การนำของจอมทัพสุลต่านมุหัมมัดอัลฟาติห์ และครั้งที่สองเป็นการพิชิตด้วยเสียงตักบีรและตะห์ลีลเท่านั้นโดยปราศจากการต่อสู้แต่อย่างใด ซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนหน้าที่ดัจญัลจะออกมาอาละวาด แต่สิ่งที่น่าสังเกตจากฮะดีษข้างต้น คือฮะดีษกล่าวว่า “กรุงคอนสแตนติโนเปิลจะถูกเปิดโดยลูกหลานของบนีอิสฮาก จำนวน 70,000 คน ซึ่งที่จริงแล้วลูกหลานบนีอิสฮากก็คือชาวโรมันนั่นเอง เพราะพวกเขามาจากเชื้อสายของอัลอัยซ์ บิน อิสฮาก บิน อิบรอฮิม ดังนั้นจะเป็นไปได้อย่างไรกันที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลอันเป็นศูนย์กลางของพวกเขาจะถูกพิชิตโดยมือพวกเขาเอง

มุสตอฟา ชะลาบีย์กล่าวว่า :“อุลามาอฺจำนวนไม่น้อยได้ยกฮะดีษดังกล่าวเป็นหลักฐานยืนยันว่าแท้จริงชาวโรมันในช่วงสุดท้ายแห่งวันสิ้นโลกจะเข้ารับการอิสลามและร่วมกับกองทัพมุสลิมในการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล” วัลลอฮุอะลัม

อิบนูกาซีรมีความเห็นว่า:“ฮะดีษนี้บ่งบอกว่าแท้จริงชาวโรมันจะเข้ารับอิสลาม (ในช่วงสุดท้ายแห่งวันสิ้นโลก) และบางทีการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลจะเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของพวกเขาส่วนหนึ่ง ดังฮะดีษข้างต้นที่ได้กล่าวไว้ว่า ลูกหลานของบนีอิสฮากจำนวน 70,000 คน จะทำสงครามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล…”

ฮะดีษที่เล่าโดยอบูฮุรอยเราะห์เกี่ยวกับการสู้รบของชาวโรมันก็เป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่บ่งบอกว่าชาวโรมันจะเข้ารับการอิสลามในช่วงสุดท้ายแห่งการสิ้นโลกหรือกิยามัต ซึ่งชาวโรมันหรือผู้ปฏิเสธได้ขอให้มุสลิมหลีกทางให้พวกเขาได้สู้รบกับชาวโรมันที่ถูกจับเป็นเชลยและเข้ารับอิสลามแล้ว แต่ชาวมุสลิมไม่ยอมและอ้างว่าพวกเขาเป็นพี่น้องของตน จนเกิดการสู้รบกันขึ้นในที่สุด…

อิมามอัลนาวาวีย์กล่าวว่า :“ข้อเท็จจริงอันนี้ได้เกิดขึ้นในสมัยของเรา ยิ่งกว่านั้นค่ายทหารอิสลามในเมืองชามและอียิปต์ส่วนใหญ่ล้วนมาจากกองเชลยศึกที่เข้ารับอิสลามและปัจจุบัน อัลฮัมดุลิลละห์ พวกเขากลับจับชาวผู้ปฏิเสธมาเป็นเชลยศึกต่อ…”

การพิชิตหรือเปิดกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่กล่าวถึงในฮะดีษเกิดขึ้นโดยปราศจากการสู้รบด้วยอาวุธสงคราม แต่ใช้การตักบีรหรือตะห์ลิลเท่านั้น ซึ่งแน่นอนการพิชิตอันนี้ยังไม่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ติรมิซีย์ได้ยกรายงานจากอานัส บิตน มาลิก ท่านกล่าวว่า :“การพิชิตคอนสแตนติโนเปิล (ที่ถูกกล่าวถึงในฮะดีษ) จะเกิดขึ้นพร้อมกับการสิ้นโลก”

ส่วนการพิชิตที่เกิดขึ้นโดยฝีมือของกองทหารแห่งอาณาจักออตโตมานภายใต้การนำของสุลต่านมุหัมมัดอัลฟาติห์นั้นเกิดด้วยการสู้รบ ซึ่งการพิชิตดังกล่าวถือเป็นการเปิดทางสำหรับการพิชิตครั้งยิ่งใหญ่ และการที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวยุโรปผู้ปฏิเสธหลังการล่มสลายของเคาะลีฟะห์อิสลามียะห์นั้นเป็นการตอกย้ำถึงการหวนกลับมาของการพิชิตครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง อินชาอัลลอฮ วัลลอฮุอะลัม

3.1.5 ทำไมชาวมุสลิมถึงมุ่งมั่นที่จะพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล



สาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้บรรดานักรบมุสลิมมุ่งมั่นที่จะพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลพอสรุปได้ดังต่อไปนี้ 

  1. ความศรัทธาอันแน่วแน่ต่อคำสัญญาของอัลลอฮตามที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวาซัลลัมได้กล่าวไว้ว่า “(สักวันหนึ่ง) เมืองนี้ต้องถูกพิชิตและแท้จรริงอามีรที่ดีที่สุดคืออามีรที่สามารถพิชิตเมืองนี้ และทหารที่ดีที่สุดคือทหารของอามีรนี้” และในฐานะที่เป็นมุสลิมผู้ศรัทธามั่นคนหนึ่ง จึงหวังว่าคงจะได้เป็นหนึ่งในบรรดากองทหารผู้พิชิตตามที่ท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวาซัลลัมได้กล่าวชมเชยไว้
  2. ในขณะที่กรุงมะดาอีนและอาณาจักเปอร์เซียนั้นกองทหารมุสลิมสามารถพิชิตได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ส่วนกรุงคอนสแตนติโนเปิลอันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทน์และเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรม กลับยืนหยัดอยู่ได้นับร้อยปีโดยไม่มีกองทหารใดสามารถพิชิตมันได้ ดังนั้นจึงถือว่าอำนาจความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรอิสลามยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะสามารถพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้
  3. กรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองที่สวยงามและมีทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรปกับเอเชีย ดังนั้นการครอบครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลจึงเท่ากับว่าได้ครอบครองทั้งสองทวีปอย่างสมบูรณ์

3.1.6 กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลคนสุดท้าย
สมัยสุลต่านมูฮัมหมัด อัลฟาตีฮฺ เป็นเคาะลีฟะฮฺ ในราชอาณาจักรอับบาซียะฮฺอยู่นั้น เป็นช่วงเวลาของกษัตริย์คนที่ 11 ได้ปกครองไบแซนไตน์ท่านเป็นกษัตริย์ ในปี ฮ.ศ. 853  ซึ่งมีอายุยังน้อย และท่านมีความรู้สึกว่าประเทศชาติจะถูกรุกรานจากศัตรูที่อันตรายที่สุดประจวบทหารของท่านอยู่ในยุคอ่อนแอ ไม่สามารถจะปกป้องคุ้มเมืองได้ ด้วยเหตุดังกล่าวท่านได้ทุ่มเทแรงกำลังกาย และใจในการเตรียมการป้องกันจากการโจมตีของทหารบานีย์อุสมาน และท่านได้สร้างความสัมพันธ์กับประเทศยุโรปอีกด้วย

ขั้นตอนแรกในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศยุโรป เพื่อให้มาสนับสนุนท่านนั้น ท่านได้ขอหมั้นกับมารียะฮฺ อัซซอรบียะฮฺ ซึ่งในเวลานั้น มารียะฮฺมีอายุ 50 ปี แต่กษัตริย์กรุงคอนสแตนโนเปิลมีอายุน้อยกว่าหลายปี จากการหมั้นดังกล่าวทำให้กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิล มีความหวังทีจะได้รับการช่วยเหลือจาก ยูนบรันกูฟีตัซ (TondBaronKupitas) ซึ่งเป็นบิดาของมารียะฮฺ เพื่อป้องกันกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่ความหวังดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเพราะการหมั้นนั้นไม่ได้รับการตอบรับจากมารียะฮฺ ซึ่งก่อนหน้านี้มารียะฮฺได้ตั้งจิตใจ (نذر ) เพื่อที่จะห่างไกลจากโลกภายนอกโดยการอิอฺตีกาฟ์ต่อพระองค์อัลลอฮฺในโบสถ์แห่งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม กรุงคอนสแตนติโนเปิลก็ยังมีความหวังที่จะได้รับการช่วยเหลือจากชาวยุโรป เพราะเขามีความมันใจว่า หากมุสลิมเข้าโจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลเมื่อไร ชาวยุโรปต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ดี

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลส่งตัวแทนเพื่อขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์ยุโรป และบาบอนาดูลา ที่ 5 โดยกล่าวไว้ว่า : ถ้าหากกรุงคอนสแตนติโนเปิลตกอยู่ภายใต้การปกครองของอิสลามแล้ว แน่นอนอีตาลีจะถูกโจมตีจากมุสลิมต่อไป และได้กล่าวเกี่ยวกับความพยายามในการรวมมือจาก 2 โบสถ์ที่ดังกล่าว (ตะวันตกและตะวันออก) แต่ความพยายามดังกล่าวไม่สำเร็จเช่นกัน

3.1.7 ยกเลิกการสัญญา
เป็นสิ่งที่แปลกประหลาดใจมากที่กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิล รู้ถึงความประสงค์ ของสุลต่าน มูฮัมหมัดในการโจมตีและพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ดังนั้นกษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลจึงได้ยกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับอาณาจักรอุษมานียะห์ ซึ่งเป็นสัญญาที่สุลต่านมูฮัมหมัด อัลฟาตีห์ล่อลวงให้ทำ จากนั้นกษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลที่ 11 ได้ส่งตัวแทนไปยังสุลต่านอัลฟาตีห์เพื่อข่มขู่สุลตาน แต่สุลต่านให้การต้อนรับตัวแทนดังกล่าวเป็นอย่างดี และได้มีการทำสัญญาในการเจรจาไว้ด้วย หลังจากนั้นท่านได้ทำการเตรียมพร้อมในการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล

ในการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลครั้งนี้ สุลต่านรู้สึกว่าฝ่ายอิสลามไม่สบายใจ หลังจากที่ได้ฟังข่าวว่า ฝ่ายยิวได้ปิดล้อมพวกเขาจากทางทะเลและทางบก บิดาของสุลต่านอัลฟาตีห์ห์คือ มูรอดที่ สอง ได้สาบานก่อนเกิดการสงครามวารนะฮฺ ซึ่งสุลต่านอัลฟาตีห์เองก็ได้สาบาน เช่นกัน ว่า “ถ้าหากพระองค์ อัลลอฮฺ ได้ยกบาลอนี้จากฉันแน่นอนฉันจะยกทัพในเวลาเดียวกันไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล” จากนั้นท่านได้พยายามปฎิบัติและดำเนินตามที่ท่านได้สาบานไว้ เพื่อปิดล้อม และพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่ไม่ได้รับความสำเร็จ ท่านสุลต่านอัลฟาตีห์ได้จดจำคำตักเตือน ( วูซียะห์ ) ของปู่ไว้ตลอดเวลาในการพิชิต กรุงคอนสแตนโนเปิล จากวูซียะห์ดังกล่าวสุลต่านอัลฟาตีห์ รู้สึกไม่สบายใจตลอดเวลาจนกว่ากรุงคอนสแตนติโนเปิลจะถูกพิชิตโดยท่านเอง

3.1.8 การเตรียมพร้อมของกษัตริย์ที่ 11 ในการป้องกันกรุงคอนสแตนติโนเปิล
จากการโจมตีของสุลต่านอัลฟาตีฮฺ กษัตริย์องค์ที่ 11 ของกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้พยายามซ่อมแซม ปรับปรุงป้อมปราการและประตูเข้าเมืองพร้อมทั้งเสบียงอาหารและศาสตราวุธต่างๆ และได้เตรียมทหารที่ใช้อาวุธสงครามในการเผชิญหน้ากับทหารของสุลต่านอัลฟาตีห์และท่านได้ส่งตัวแทนจากยุโรปเพื่อขอความช่วยเหลือจากเปาส์ : แท้จริงมัจมะอฺฟลูรนะห์ได้ตัดสินใจที่จะร่วมมือกับสองโบสถ์ คือตะวันตกและตะวันออก และได้ขอต่อเขาเพื่อจัดส่งกำลังคนเพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวได้สำเร็จโดยเร็ว แต่กษัตริย์ของยุโรป และผู้ใหญ่มีจุดยืนต่อการเรียกร้องของรัฐบาลกรุงคอนสแตนติโนเปิลเพราะต่างคนต่างก็มีความขัดแย้งกัน ฉะนั้นข้อเรียกร้องของกษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลจึงไม่ได้รับการตอบรับ

แต่อย่างไรก็ตามยังมีการช่วยเหลือบ้าง เช่น ได้ส่งกำลังทหารประจำรัฐมาที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล การช่วยเหลือดังกล่าว ทำให้ชาวกรุงคอนสแตนติโนเปิลหายจากความรู้สึกที่กลัว และหวาดผวาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และในเวลาเดียวกันได้มีเรือสองลำจากเมือง บุนดูกียะห์ ซึ่งเดินทางมาโดยผ่านคลื่นทะเลที่มีแรงลมพัดพาอย่างรุนแรงผ่านทะเลบอสฟารา และเข้าไปช่องแคบคอรนูซาฮาบีย์ด้วยความปลอดภัย




หลังจากนั้นกัรดีนาร์ซึ่งเป็นตัวแทนเปาร์จากโรมันได้เดินทางมาถึงพร้อมกับมีนายทหารจำนวน 200 กว่าคน เพื่อให้ความช่วยเหลือทำให้เกิดมิตรภาพที่ดีระหว่างตะวันตกและตะวันออก ในขณะเดียวกันเรือรบ จากเกาะกรีกจำนวน 8 ลำก็ได้ มาถึงเพื่อให้การช่วยเหลือชาวกรุงคอนสแตนติโนเปิล

ทันใดนั้นก็ได้มีบุคคลหนึ่งชื่อว่า จอร์น ยูนสตันนียาน ซึ่งเดินทางมาถึงโดยเรือใบที่เต็มไปด้วยสิ่งของสัมภาระและอาวุธสงคราม พร้อมกับเรือที่บรรทุกทหาร 800 นาย การมาถึงของจอร์นได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากชาวกรุงคอนสแตนติโนเปิลและได้แต่งตั้งจอร์นเป็นแม่ทัพที่ยิ่งใหญ่ในการปกป้องบ้านเมือง
ผู้นำแม่ทัพใหม่เริ่มจัดระบบและวางแผนในการปกป้องกรุงคอนสแตนติโนเปิลเขาได้ติดตั้งปืนเล็กๆ บนถนน และได้จัดแบ่งทหารต่างชนชาติ พร้อมกับกำหนดหน้าที่ต่างๆ และฝึกปฏิบัติทหารที่ยังไม่รู้วิธีการทำสงคราม พวกเขาเหล่านั้นได้ทุ่มเทในการโจมตีมุสลิมและปกป้องกรุงคอนสแตนติโนเปิลไม่ให้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของมุสลิม

กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลที่ 11 ได้กำหนดสถานที่ให้จอร์น ยูนสตันนียานพร้อมนายทหารอยู่ปักหลักที่ประตู และสถานที่ที่สำคัญ เพราะจอร์นเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำสงครามและในการปกป้องกรุงคอนสแตนติโนเปิลนี้กษัตริย์องค์ที่ 11ได้ลงสนามรบด้วยตนเอง และกษัตริย์องค์ที่ 11 ยังได้ทำสัญญากับจอร์นว่า หากจอร์นปกป้องการโจมตีของชาวตุรกีได้สำเร็จเขาจะมอบเกาะต่างๆ ให้จอร์น

3.1.9 การเตรียมพร้อมของสุลต่านมูฮัมหมัด อัลฟาตีห์
ที่เมืองอูดร์นะห์ซึ่งเป็น เมืองหลวงของราชอาณาจักรอุษมานียะห์ สุลต่านมูฮัมหมัด อัลฟาตีห์พยายามเดินหน้าต่อไปและไม่นิ่งเฉยต่อการเตรียมพร้อมในการโจมตีกรุงสแตนติโนเปิล ท่านได้รวบร่วมนายทหารพร้อมอาวุธ จากชาวเอเชีย , และยุโรปเพื่อปลุกระดมถึง”รูฮูลยีฮาด” ในหนทางของอัลลอฮฺด้วยหน้าที่รับผิดชอบ และผลบุญที่ดีงามจากพระองค์

ในช่วงเวลานั้นมีบุคคลหนึ่งซึ่งมีความสามารถในการสร้างปืนใหญ่ บุคคลผู้นั้นมีเชื้อสายฮังการี เขามีชื่อว่า อุรบาน เขาชอบเดินทางและผจญภัยหลายๆ ประเทศเช่นประเทศแถบยุโรป การเดินทางของเขาแต่ละครั้ง เขาได้เสนอตัวต่อกษัตริย์ยุโรปแต่ไม่ได้รับการตอบรับจากกษัตริย์ยุโรปแม้แต่คนเดียว อูรบานไม่ย่อท้อเขาเดินทางต่อไปสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิลเพื่อเสนอตัวอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดิม เขาไม่ได้รับการตอบรับ และไม่สนใจการเสนอตัวของเขา สุดท้ายเขาเดินไปหาสุลต่านมูฮัมหมัด อัลฟาตีห์ทำให้เขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และได้มีโอกาสแสดงความสามารถในการสร้างปืนใหญ่ให้เสร็จดังความต้องการของสุลต่าน

มีอยู่วันหนึ่งสุลต่าน อัลฟาตีห์ได้ถามเขาว่า: ท่านสามารถสร้างปืนใหญ่ได้หรือเปล่าซึ่งก่อนหน้านี้ท่านไม่เคยสร้างปืนใหญ่มาก่อน ? อุรบานตอบว่า : ฉันสามารถสร้างปืนใหญ่ที่สามารถโจมตีและถล่มกำแพงที่แข็งแกร่งของกรุงคอนสแตนติโนเปิลไม่ว่ากำแพงนั้นมีความแข็งแกร่งดังกรุงบาบาล แท้จริงแล้ว ฉันเป็นนักวิศวกรรมไม่ใช่ทหาร ฉะนั้นฉันไม่รู้ว่าปืนใหญ่ที่จะสร้างนั้นจะตั้งอยู่ตรงจุดใหน ? สุลต่าน อัลฟาตีห์ยิ้มพร้อมกับกล่าวว่า : ไม่เป็นไร ฉันเป็นทหาร ฉันรู้ดีว่าจะตั้งจุดใหน แต่ฉันต้องการให้ท่านสร้างปืนใหญ่ให้เสร็จ ส่วนที่ตั้งของปืนใหญ่นั้นเป็นหน้าที่ของฉันเพราะฉันรู้ดีในเรื่องนี้


อูรบานเริ่มสร้างปืนใหญ่โดยมีผู้ช่วยสองคนจากตุรกี ท่านผู้นั้นก็คือ ซอรียะห์ และมัสลาฮูดดีน โดยมีสุลต่านเป็นผู้ควบคุมดูแลงานในครั้งนี้ หลังจากนั้นสามเดือนอูรบานได้ทุ่มเท เสียสละทั้งแรงกำลังกายและใจในการสร้างปืนใหญ่เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของสุลต่าน ซึ่งในที่สุดก็ประสบความสำเร็จได้รับปืนใหญ่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ปืนใหญ่นั้นมีน้ำหนัก 700 ตัน กระสุนลูกหนึ่งมีน้ำหนัก 12,000 กาตี การยกกระสุนดังกล่าวต้องใช้พลังวัว 100 ตัว และกำลังคนผู้ชายที่แข็งแรง 100 คน ซึ่งตอนที่กำลังดึงปืนใหญ่ให้เคลื่อนที่นั้นดูเหมือนกับเต่าที่กำลังเดิน

การทดลองใช้ปืนใหญ่ครั้งแรกได้ทำที่เมืองอูดร์นะซึ่งทำให้มีเสียงดังถึง 13 ไมล์ ด้านล่างจมใต้ดิน 6 เมตร ใช้เวลาในการดึงจากเมืองอูดร์นะถึงบริเวณกำแพงเมืองคอนสแตนติโนเปิลเป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งถ้าคิดเป็นระยะทางเดินปกติจะใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น และอูรบานได้สร้างปืนใหญ่อีกลูกหนึ่งมีชื่อว่า “ปืนใหญ่สุลต่าน” (maryam sultan) ดังนั้นความพร้อมทางด้านอาวุธของบานีย์อุษมาน (อาณาจักรออตโตมาน) นั้นเกินกว่าใครๆ ในโลกนี้ ด้วยความพร้อมอันนี้ทำให้การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลประสบความสำเร็จในสมัยสุลต่านมูฮัมหมัด อัลฟาตีห์

หลังจากนั้นออกคำสั่งให้สร้างเรือรบใหม่เพิ่มและทำการซ่อมแซมเรือเก่าและไปตั้งหลักอยู่ที่อ่าวมัรมาราเพื่อสกัดกั้นเรือของศัตรูที่จะมาให้ความช่วยเหลือต่อกรุงคอนสแตนติโนเปิล เรือรบของออตโตมานมีหลายรูปแบบมีทั้งหมด 400 ลำ 12 ลำ ใช้บรรทุกอาวุธสงคราม

ในวันศุกร์ 20 รอบีอูอาวัล ปี ฮ.ศ. 857 สุลต่านมูฮัมหมัด อัลฟาตีห์ ได้เตรียมสิ่งของต่างๆ และทำความสะอาดสถานที่รอบๆ บริเวณกรุงคอนสแตนติโนเปิลพร้อมกับสกัดกั้นประเทศที่ใกล้เคียงกับกรุงคอนสแตนติโนเปิลเพื่อไม่ให้ความช่วยเหลือช่วงเวลาสงคราม สุดท้ายสุลต่านมูฮัมหมัด อัลฟาตีห์รวบร่วมทหาร (ทหารทางการและทหารไม่ทางการ) เพื่อปลูกฝังทางด้านจิตใจเกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ( ยีฮาด ) ด้วยการศรัทธาในอิสลามที่แท้จริง (ฮาซัน นิมาตูลลอฮฺ , 1420:14-30)

3.1.10 การโจมตีในสมัยสุลต่านมุหัมมัด อัลฟาติห์
สุลต่านมุหัมมัด อัลฟาติห์ เป็นสุลต่านผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในบรรดาสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมาน ถึงระดับแกนนำด้านการเมืองระหว่างประเทศในสมัยนั้น ความสัมพันธ์ด้านการเมืองและการสงครามในสมัยท่านครอบคลุมทั้งสามทวีป ทวีปยุโรป เอเชีย และอัฟริกา ท่านเป็นสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมานคนแรกที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนเป็นที่รู้จักกันของชาวยุโรปและมีการกล่าวขานอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นท่านเป็นผู้บุกเบิกอารยธรรมมุสลิมคนแรกที่ชาวยุโรปได้ขนานนามว่า “ผู้ทำผู้ยิ่งใหญ่” ท่านไม่เพียงแต่สามารถพิชิตกรุงอันแข็งแกร่งอย่างคอนสแตนติโนเปิลเท่านั้น แต่ทว่าท่านยังเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ยุโรปอีกด้วย

ก่อนที่สุลต่านมุรอดอัลซานี ผู้เป็นบิดาจะสิ้นชีวิตท่านได้สั่งเสียให้ปฏิบัติตามคำสั่งเสียของสุลต่านอุสมาน บิน อริตฆอล ผู้เป็นปู่ด้วยการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล และท่านเคยได้ยินคำสาบานของผู้เป็นบิดาในขณะที่อยู่ในสมรภูมิที่เผชิญกับกองทัพครูเสดว่า :

“หากแม้นว่าอัลลอฮได้ยกภัยพิบัติอันนี้ออกจากฉัน แน่นอนฉันจะยกทัพไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิลทันที”

3.1.11 การเตรียมความพร้อมเพื่อพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลของสุลต่าน
สุลต่านมุหัมมัด อัลฟาติห์ เล็งเห็นว่าการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลนั้นไม่เพียงแต่เป็นการสานความฝันที่ศรัทธามั่นของท่านและของปู่ของท่านให้เป็นจริงเท่านั้น แต่มันยังทำให้การพิชิตเมืองต่างๆ ของอาณาจักรออตโตมานในเขตอ่าวบอลข่านสะดวกและง่ายดายขึ้นด้วย จนทำให้อาณาจักรออตโตมานของท่านมีการต่อเชื่อมกันอย่างไม่ขาดตอนระหว่างเอเชียและยุโรป เพราะกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นแผ่นดินศัตรูที่ตั้งตระหง่านอยู่บนเส้นทางที่สกัดกั้นระหว่างแผ่นดินแถบยุโรปกับแผ่นดินทางเอเชียของอาณาจักรออตโตมาน ดังนั้นสุลต่านจึงเริ่มจัดเตรียมความพร้อมเพื่อกวาดล้างขวากหนามดังกล่าวด้วยการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล

ในการเตรียมความพร้อมสู่การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในครั้งนี้สุลต่านมุหัมมัดได้จัดเตรียมแผนการต่างๆ ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. พยายามตัดความสัมพันธ์ระหว่างกรุงคอนสแตนติโนเปิลกับเมืองใกล้เคียงด้วยการทำสนธิสัญญาสงบศึกกับเมืองบนีดุกิยะห์ อัมลาก เมเจอร์ บอสเนียร์ และอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เมืองดังกล่าวให้ความช่วยเหลือแก่กรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ในภายหลัง และสุลต่านได้สัญญาสงบศึกชั่วคราวกับกษัตริย์โฮเนียดแห่งเมืองเมเจอร์เป็นระยะเวลา 3 ปี
  2. ทำการสร้างป้อมปราการโรมัลลี ปี ฮ.ศ. 856  (ค.ศ. 1452 ) ในเขตช่องแคบบอสฟอรัสทางชายฝั่งยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับป้อมปราการที่สุลต่านบายะซีดที่หนึ่งได้สร้างไว้บนเขตที่แคบที่สุดของช่องแคบอนาโตเลียทางชายฝั่งเอเชีย เป้าหมายในการสร้างป้อมปราการโรมัลลีในครั้งนี้เพื่อจะปิดช่องทางเดินเรือระหว่างทะเลดำและทะเลมัรมารา และเพื่อสกัดกั้นความช่วยเหลือต่างๆ ที่มาจากทะเลดำแก่กรุงคอนสแตนติโนเปิล การสร้างในครั้งนี้กินเวลาประมาณ 4 เดือน (26 ชะบาน ฮ.ศ. 856) โดยมีรูปทรงสามเหลี่ยม สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 82 เมตร ผนังมีความหนาถึง 20 ฟุต ทุกมุมจะมีหอคอยอันมหึมาจำนวนสามหอคอยที่ทอดยาวไปยังชายฝั่งมีความสูงประมาณ 26.70 เมตร ใช้พื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 30,250 ตารางเมตร เพื่อตรวจตราและสอดส่องการเดินผ่านของเรือต่างๆ
  3. ในเดือนเชาวัล ฮ.ศ. 856 สุลต่านได้ส่งตอรคอนไปยังป้อมเมาเราะห์ ณ เมืองอันดาลูซีย เพื่อเกลี้ยกล่อมไม่ให้ผู้ปกครองทั้งสองของเมืองอันดาลูเซียยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิล พร้อมกับส่งกองกำลังจำนวนหนึ่งเพื่อไปเคลียพื้นที่ใกล้เคียงกับกรุงคอนสแตนติโนเปิลให้ปลอดภัยปราศจากกระแสต่อต้านใดๆ.
  4. หลังจากนั้นสุลต่านก็เริ่มทำการซ่อมแซมเรือรบและสร้างเกราะป้องกันเรือจากการโจมตี และทำการสร้างปืนใหญ่มีนักวิศวกรรมชื่ออูรบานเป็นช่างใหญ่
  5. วันศุกร์ที่ 20 เราะบีอุลเอาวัล ฮ.ศ. 857 (ค.ศ. 1453) ก็ได้สิ้นสุดการเตรียมการด้านการทหารและความพร้อมต่างๆ ทั้งด้านอาวุธปืน ลูกระเบิด เสบียงอาหาร และสิ่งจำเป็นอื่นๆ


3.1.12 การปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลครั้งยิ่งใหญ่
วันพฤหัส ที่ 6 เมษายน ค.ศ. 1453 (26 เราะบีอุลเอาวัล ฮ.ศ. 857) กองทหารออตโตมานได้เดินทางเข้าไปประชิดกรุงคอนสแตนติโนเปิล และวันต่อมา (ศุกร์ที่ 27 เราะบีอุลเอาวัล ฮ.ศ. 857) เริ่มทำการปิดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล โดยประกอบด้วยทหารเรือจำนวน 20,000 นาย พร้อมกับเรือรบและเรือบรรทุกสัมภาระจำนวน 400 ลำ ในจำนวนนี้มี 14 ลำใช้บรรทุกอาวุธ ส่วนกองทหารบก มีทั้งสิ้นจำนวน 80,000 นาย และปืนใหญ่อีกจำนวน 200 กระบอก

แต่เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของกรุงคอนสแตนติโนเปิลและรูปร่างที่เป็นสามเหลี่ยม ผนวกกับมีกำแพงทั้งสองด้านที่แข็งแกร่ง ทำให้ยากแก่การเปิดเป้าโจมตี ดังนั้นสุลต่านมุหัมมัดจึงได้ใช้ยุทธวิธีการโจมตีใหม่ด้วยการแบ่งกองทหารออกเป็นสามหน่วยย่อยคือ

(1.) หน่วยขวา ประกอบด้วยกองทหารอนาโตเลีย โดยมี อิสฮาก บาซา เป็นแม่ทัพ และมะหมูด เบก เป็นรองแม่ทัพ หน่วยขวานี้จะประจำการอยู่ในแนวระยะทางระหว่างทะเลมัรมาราทางปีกใต้สุดจนถึงเขตตุบกุบู
(2.) หน่วยซ้าย ประกอบด้วยกองทหารจากยุโรป และนักรบอิสระ โดยมีกุรอฮยะห์ บาซา เป็นแม่ทัพ หน่วยซ้ายนี้จะประจำการอยู่ในแนวของกำแพงที่เริ่มจากปีกเหนือสุดของท่าเรือกอรนุนซะฮะบีย์ จนถึงประตูแอนเดรีย
(3.) หน่วยกลาง ประกอบด้วยกองทหารจากอิสกันดัร และกองทหารพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยพิเศษและหน่วยกล้าตาย โดยมีสุลต่านมุหัมมัดเองเป็นแม่ทัพ หน่วยกลางนี้จะประจำการอยู่ในแนวกำแพงส่วนกลาง ซึ่งเริ่มจากประตูตุบกุบูจนถึงประตูแอนเดรีย

ส่วนปืนใหญ่ก็ได้ถูกวางเรียงรายตามแนวกำแพง และได้ตั้งปืนสุลต่านที่ใหญ่ที่สุดตรงข้ามกับประตูกำแพงโรมานูส ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนามของประตูปืนใหญ่ตุบกุบูในทะเลมัรมาราเรือรบของกองทัพออตโตมานทำการตระเวนอย่างพลุกพล่านเพื่อทำการตรวจตราและสังเกตการเล็ดรอดเขามาของเรือฝ่ายตรงข้าม


การปิดล้อมเริ่มเปิดฉากขึ้นด้วยการคำรามของปืนใหญ่อย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืน สลับกับเสียงตักบีร “อัลลอฮุอักบัร” เป็นระยะๆ… การยิงปืนใหญ่ที่ติดต่อกันมีผลทำให้กำแพงรอบนอกตรงที่ราบลุ่มลีกูสส่วนหนึ่งถูกทำลายลง และกองทหารออตโตมานได้ปีนป่ายขึ้นบนกำแพงด้วยตะขอเหล็ก ซึ่งบางคนสามารถปีนขึ้นไปถึงที่รองคานบนกำแพงและเกิดการปะทะกันขึ้นอย่างดุเดือด ในเวลาต่อมาสุลต่านมุหัมมัดได้สั่งให้กองทหารที่กำลังห้ำหั่นอยู่นั้นถอยกำลังออกมา หลังจากที่สุลต่านได้มองเห็นถึงความเสียหายของกำแพง กองกำลังที่กำลังปกป้องกรุงคอน สแตนติโนเปิลในบริเวณนั้น อาวุธ และความพร้อมของฝ่ายตรงข้าม ส่วนทหารเรือในทะเลมัรมาราก็พยายามทำลายโซ่เหล็กที่ถูกขึงไว้ตรงปากทางเข้าของท่าเรือกอรนุนซะฮะบีย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ความล้มเหลวในครั้งนี้ทำให้สุลต่านต้องปลดแม่ทัพทะเลญัลตะห์ โอฆเลย์ ออกจากหน้าที่และแต่งตั้งฮัมซะห์ บาชา แทนที่ พร้อมกับสั่งกำชับให้ระดมยิงกำแพงในเขตต่างๆ อย่างรุนแรงและหนักหน่วงกว่าเก่า และได้กล่าวแก่ฮัมซะห์ บาชา ว่า “ถ้าหากทำงานไม่สำเร็จก็จงอย่ากลับมาพบฉันในสภาพที่มีชีวิตอยู่”

สุลต่านได้พยายามงัดกลยุทธใหม่ๆ มาใช้ในการจู่โจมในครั้งนี้ จนในที่สุดอัลลอฮซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้เปิดทางสว่างแก่สุลต่าน ด้วยการเจาะจงสนามรบและบังคับฝ่ายตรงข้ามให้ลงไปปะทะในบริเวรดังกล่าว ดังนั้นสุลต่านจึงเริ่มสลับแผนใหม่และทำการสลับเปลี่ยนทหารอย่างต่อเนื่องและเน้นการโจมตีทางบก

แผนดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อ

  1. ทำการยึดครองท่าเรือกอรนุนซะฮะบีย์
  2. เพื่อโจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลในส่วนที่อ่อนที่สุด
  3. เพื่อเพิ่มการป้องกันจากกำแพงทางบก
  4. เพื่อติดตามสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของชาวฆอลตะห์ทางตอนใต้
  5. ทำให้กองกำลังที่ปกป้องกรุงคอนสแตนติโนเปิลอยู่อย่างกระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่ม
  6. เพื่อให้มีการติดต่ออย่างมั่นคงและตลอดเวลาระหว่างกองกำลังออตโตมานที่กำลังจู่โจมอยู่กับฐานบัญชาการที่ป้อมโรมัลลี
  7. เพื่อสร้างความตื่นตระหนกให้กับศัตรูด้วยยุทธวิธีการโจมตีที่ไม่คาดคิด

พร้อมกันนี้สุลต่านได้วางแผนเพื่อขนย้ายเรือรบจากน่านน้ำมัรมาราสู่ท่าเรือกอรนุนซะฮะบีย์โดยใช้เส้นทางบกทางด้านหลังเนินเขาฆอลตะห์ โดยจะเริ่มจากวิซาฮาดบัชก์ตอต จนถึงกอรนุนซะฮะบีย์ และพยายามเลี่ยงและห่างไกลเขตที่อยู่อาศัยของชาวฆอลตะห์ ซึ่งเส้นทางที่ใช้เป็นระยะทาง 3 ไมล์ โดยต้องผ่านเขตพื้นดินที่ขรุขระทำให้การขนย้ายในครั้งนี้เกิดความยากลำบากเป็นอย่างมาก ดังนั้นสุลต่านจึงสั่งให้ทหารปรับพื้นดินให้เรียบ และปูพื้นด้วยไม้กระดานที่ทาด้วยน้ำมันเพื่อให้ลื่นไหลตลอดระยะทางดังกล่าว แล้วทำการขนย้ายเรือรบเล็กซึ่งสามารถตัดผ่านระยะทางดังกล่าวอย่างง่ายดาย ด้วยวิธีการดังกล่าวสุลต่านสามารถขนย้ายเรือรบจากน่านน้ำบอสฟอรัสไปยังท่าเรือกอรนุนซะฮะบีย์ภายในคืนเดียว (คืนวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1453) จำนวน 70 ลำ และเพื่อเป็นการกลบเกลื่อนไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามทันรู้สึกตัวต่อการขนย้ายในครั้งนี้และเบี่ยงเบนความสนใจของกองทหารไบแซนไทน์จากภารกิจดังกล่าว สุลต่านได้สั่งให้กระหน่ำยิงปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่หลังกำแพงฆอลตะห์ และจากที่สูงของเนินเขาไปยังกำแพงที่ปิดบังกอรนุนซะฮะบีย์อย่างต่อเนื่องและรุนแรงตลอดทั้งคืน




เช้าวันรุ่งขึ้นชาวกรุงคอนสแตนติโนเปิลต้องสะดุ้งตื่นขึ้นมาอย่างอกสั่นขวัญผวากับเสียงร้องตักบีร “อัลลอฮุอักบัร” ของทหารออตโตมาน ทุกคนต่างแตกตื่นและมึนงงอย่างยิ่ง แทบไม่เชื่อสายตาตัวเองที่เห็นกองเรือจำนวนมากมายกำลังทอดสมออยู่อย่างเรียงรายในน่านน้ำท่าเรือกอรนุนซะฮะบีย์ ซึ่งสุลต่านได้สั่งให้เรือทุกลำเรียงติดกันจนทหารสามารถข้ามไปยังฝั่งบกของกรุงคอนสแตนติโนเปิลอย่างปลอดภัย เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวนักประวัติศาสตร์ชาวไบแซนไทน์ชื่อโดกาสซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวได้เล่าถึงความตกตลึงของเขาต่อวิธีการโยกย้ายเรือดังกล่าวว่า

“แท้จริงมันเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีใครได้ยิน และได้เห็นมันมาก่อนหน้านี้”

หลังจากนั้นสุลต่านได้สั่งให้สร้างสะพานลอยเหนือน่านน้ำอย่างเร่งด่วนเพื่อใช้เป็นฐานที่ตั้งของปืนใหญ่ที่จะใช้ยิงส่วนของกำแพงที่หันหน้ามายังท่าเรือกอรนุนซะฮะบีย์ กองทหารออตโตมานเริ่มโหมโจมตีใหม่อีกระลอกอย่างหนักหน่วงที่ราบลุ่มลีกูสสักพักหนึ่งก็ถอยกลับมายังฐานทัพ ในขณะเดียวกันสุลต่านได้สั่งย้ายปืนใหญ่ทั้งหมดที่ตั้งอยู่บนเนินเขาฆอลตะห์เพื่อไปเสริมปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่หน้าประตูกำแพงโรมานูส และเพื่อเพิ่มอัตราการยิงไปยังกำแพงทางทะเลให้ได้หลายจุด

หลังจากการปิดล้อมและจู่โจมอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องทั้งทางทะเลและทางบกเป้นเวลา 6 อาทิตย์ กำแพงส่วนที่เป็นเป้าโจมตีที่อยู่ระหว่างตัฆฟูรสราย ประตูแอนเดรีย ประตูโรมานูสในเขตที่ราบลุ่มลีกูส และใกล้กับประตูอัสกัร ก็สึกหรอและเกิดความเสียหายอย่างหนัก ดังนั้นสุลต่านจึงส่งสารไปยังกษัตริย์คอนสแตนตินดัรกาเซซเพื่อ

“ให้ยอมแพ้และเดินทางออกจากกรุงคอนสแตนติโนเปิลพร้อมผู้ติดตามแต่โดยดี และให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทำร้ายเขาและผู้ติดตามแต่อย่างใด ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการออกจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล ทั้งตัวเขาและทรัพย์สินของเขาจะถูกคุ้มครองอย่างดีภายใต้การดูแลของสุลต่านและอาณาจักรออตโตมาน”

การปฏิบัติของสุลต่านดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันการนองเลือดที่อาจจะเกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงการทำลายล้างกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่ทว่ากษัตริย์ดัรกาเซซกลับปฏิเสธความหวังดีของสุลต่านดังกล่าว พร้อมกับให้คำสาบานว่าเขาจะปักหลักปกป้องกรุงคอนสแตนติโนเปิลด้วยชีวิต หากไม่สามารถกู้กรุงคอนสแตนติโนเปิลให้พ้นวิกฤติรักษาบัลลังค์ของเขาได้ เขาขอฝังตัวเองอยู่ใต้กำแพงแห่งนี้ตลอดไป
เห็นดังนั้นสุลต่านมุหัมมัดจึงเริ่มดำเนินแผนการครั้งสุดท้าย และหลังจากที่สุลต่านได้ทดสอบถึงกำลังใจของกองทหารและตรวจตราความพร้อมแล้ว สุลต่านก็ออกคำสั่งให้กองทหารทุกคนถือศีลอดในวันรุ่งขึ้น (อาทิตย์ที่ 18 ญุมาดิลเอาวัล ฮ.ศ. 857 (27 พฤษภาคม ค.ศ. 1453)) เพื่อเป็นการชำระและขัดเกลาจิตใจให้สะอาด หลังจากนั้นสุลต่านก็เดินตรวจตราประเมินความเสียหายของกำแพงจากทะเลมัรมาราจนถึงท่าเรือกอรนุนซะฮะบีย์ แล้วก็กลับมายังที่พำนักของท่านและออกคำแถลงการณ์ครั้งสุดท้ายมีใจความว่า :
“…หากเราสามารถพิชิตและเปิดกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จแสดงว่าเราประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามฮะดีษหนึ่งจากจำนวนฮะดีษของท่านรอซูลศ็อลลัลลอฮูอะลัยฮิวาซัลลัม และความอัศจรรย์อันหนึ่งในบรรดาความอัศจรรย์ทั้งหลายของท่าน และส่วนที่เราจะได้รับตามคำทำนายของฮะดีษนี้การสรรเสริญสดุดีและยกย่อง ดังนั้นพวกเจ้าจงส่งข่าวดีแก่กองทหารของเราทั้งหลายว่า แท้จริงชัยชนะอันยิ่งใหญ่ที่เราจะได้รับนั้นจะเป็นการเพิ่มราศีให้กับอิสลามให้มีสถานภาพที่สูงเด่นและประเสริฐยิ่งขึ้น และทหารทุกคนต้องยึดปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอย่างเคร่งครัด จะไม่มีผู้ใดปฏิบัติค้านกับหลักคำสอนของอิสลาม พวกเจ้าจงหลีกเลี่ยงจากโบสถ์ สถานที่กราบไหว้บูชา จงอย่าแตะต้องมันด้วยสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ จงละเว้นบรรดานักบวช ผู้อ่อนแอ คนชรา และสตรีที่ไม่ขัดขืนหรือต่อสู้กับเรา…” หลังจากนั้นสุลต่านก็เดินเข้าไปในเต็นท์เพื่อพักผ่อนอย่างสงบสุขอยู่ในนั้น

เวลาประมาณตีหนึ่งของเช้าวันอังคารที่ 20 ญุมาดัลอูลา ฮ.ศ. 857 (29 พฤษภาคม ค.ศ. 1453) กองทัพออตโตมานภายใต้การนำของสุลต่านมุหัมมัดก็เริ่มบุกโจมตีเพื่อทะลวงกำแพงกรุงคอนสแตนติโนเปิลทั้งทางบกและทางทะเลอีกครั้งหนึ่ง โดยเน้นการโจมตีบริเวณที่ราบลุ่มลีกูส เนื่องจากกำแพงบริเวณดังกล่าวได้ประสบกับการสึกหรอและพังทลายอย่างมาก ในการเผชิญหน้ากับกำแพงกรุงคอนสแตนติโนเปิลและกองทหารไบแซนไทน์ในครั้งนี้สุลต่านได้จัดแบ่งกองทหารออกเป็นสามชุด คือ

(1.) กองทหารชุดที่หนึ่ง เป็นกองทหารโรมัลลีกับกองทหารอาสาสมัครทั่วไป กองทหารชุดนี้จะเป็นทหารแนวหน้าที่ต้องเข้าใกล้กำแพงเมืองและหยุดอยู่ ณ จุดยิงธนูจากกำแพง และทำการยิงธนูและขว้างปาก้อนหิน และส่วนหนึ่งของกองทหารชุดนี้ได้เข้าไปประชิดกำแพงและพยายามใช้บันไดเพื่อปีนขึ้นไปยังบนกำแพงจนบางคนสามารถปีนขึ้นยังบนกำแพงสำเร็จและเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดเป็นเวลาเกือบสองชั่วโมง สุลต่านก็ออกคำสั่งให้ถอยจากการโจมตีมายังศูนย์บัญชาการเพื่อพักผ่อน หลังจากนั้นสุลต่านก็ส่งกองทหารชุดที่สองเพื่อออกศึกต่อไป

(2.) กองทหารชุดที่สอง เป็นกองทหารจากอนาโตเลีย กองทหารชุดนี้มีการฝึกซ้อมดีกว่าชุดแรกและเป็นระเบียบมากกว่า พวกเขามีหน้าที่โจมตีตรงจุดที่มีการปะทะกันของกองทหารชุดแรก โดยที่กองทหารไบแซนไทน์คิดว่าทหารออตโตมานได้พ่ายแพ้แตกกระเจิงไปแล้ว แต่ไม่ทันที่พวกเขาจะทันตั้งตัวจากการโจมตีในครั้งแรก ทันใดนั้นพวกเขาต้องตกใจกับการโจมตีอย่างกะทันหันหนักหน่วงกว่า การปะทะกันของกองทหารชุดที่สองดำเนินไปจนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้น สุลต่านมุหัมมัดก็สั่งให้ถอยทัพกลับยังศูนย์อีกครั้งหนึ่ง ส่วนสุลต่านเองก็เดินสำรวจสนามรบและความเสียหายพร้อมกับสั่งให้ย้ายปืนใหญ่มาตั้งบริเวณสมรภูมิดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็มีการปะทะกันทางทะเลตรงบริเวณปากอ่าวทะเลมัรมาราและท่าเรือกอรนุนซะฮะบีย์อย่างดุเดือดโดยมีสุลต่านคอยสังเกตการณ์อยู่เป็นครั้งคราว เพื่อให้แน่ใจถึงชัยชนะที่กำลังได้รับ หลังจากนั้นสุลต่านก็ออกคำสั่งให้กองทหารชุดที่สามทำการโจมตีเป็นครั้งสุดท้าย

(3.) กองทหารชุดที่สามนี้ประกอบด้วยหน่วยจู่โจมกล้าตาย ซึ่งเป็นกองทหารที่มีการฝึกซ้อมดีที่สุดและแข็งแกร่งที่สุด โดยมีบรรดาอุลามาอฺและผู้อาวุโสคอยให้กำลังใจและปลุกระดม และหลังจากที่มีการต่อสู้อย่างดุเดือด กองทหารออตโตมานก็สามารถยิงปืนใหญ่ทะลวงกำแพงกรุงคอนสแตนติดนเปิลได้สำเร็จพร้อมกับฝ่าเข้าไปในตัวเมือง ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งสามารถฝ่าเข้าในเมืองด้วยการปีนป่ายบันไดขึ้นไปบนกำแพงเมืองและยกธงอาณาจักรออตโตมานขึ้นบกสะบัดพร้อมกับยกธงไบแซนไทน์ลงมาบดขยี้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็สามารถทะลวงเข้าไปเปิดประตูเมือง ส่วนกองทหารเรือก็สามารถพิชิตสายโซ่อันมหึมาที่ถูกวางไว้ที่ปากอ่าวท่าเรือกอรนุนซะฮะบีย์ได้สำเร็จอีกเช่นกัน..

ดังนั้นกรุงคอนสแตนติโนเปิลอันแข็งแกร่งและไม่เคยถูกพิชิตมาก่อนก็ถูกพิชิตลงด้วยกองทหารแห่งอาณาจักรออตโตมานภายใต้ของจอมทัพสุลต่านมุหัมมัดอัลฟาติห์ผู้มีอายุยังไม่ถึง 23 ปี ผู้นี้ หลังจากได้ทำการปิดล้อมเป็นเวลาถึง 51 วัน…

3.1.13 จรรยาบรรณของสุลต่านมุหัมมัดอัลฟาติห์


หลังเที่ยงของวันที่ 20 ญุมาดัลอูลา ฮ.ศ. 857 (29 พฤษภาคม ค.ศ. 1453) หลังจากที่สุลต่านเห็นกองทหารของท่านได้บุกเข้าไปยังตัวเมืองกรุงคอนสแตนติโนเปิลจากทุกมุมและธงแห่งชัยชนะได้โบกสะบัดเหนือกำแพงเมือง สุลต่านก็เดินทางเข้าไปยังตัวเมืองกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่ถูกพิชิตลงและหยุดอยู่ตรงใจกลางกรุง ในขณะที่ชาวกรุงคอนสแตนติโนเปิลต่างหวาดผวาและพากันหนีเข้าไปยังโบสถ์อายาโซเฟีย สุลต่านได้สั่งให้ทำการเผาซากศพทั้งหมดเพื่อป้องกันการระบาดของโรค แล้วสุลต่านก็เดินทางมุ่งหน้าไปยังโบสถ์อายาโซเฟีย ทันทีที่รู้ข่าวการมาเยือนของสุลต่าน ด้วยความกลัวชาวกรุงคอนสแตนติโนเปิลต่างคุกเข่าลงกราบไหว้ขอพร สุลต่านลงจากหลังม้าและทำการละหมาดชุโกรต่ออัลลอฮที่ทำให้การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลสำเร็จลงด้วยน้ำมือของท่าน หลังจากนั้นสุลต่านก็ดินทางเข้าหาประชาชนและบรรดานักบุญที่กำลังกราบไหว้อยู่ในโบสถ์อายาโซเฟียและกล่าวแก่บรรดานักบุญเหล่านั้น – ตามที่นักประวัติศาสตร์โบโลนีย์ว่า

“จงหยุดการกราบไหว้ของพวกเจ้าเถิด และจงลุกขึ้นมา ฉันคือสุลต่านมุหัมมัด ฉันจะกล่าวแก่พวกเจ้า แก่สหายของพวกเจ้าทั้งหลาย และแก่ทุกคนที่อยู่ที่นี่ว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปพวกเจ้าทั้งหลายจะได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและอิสรภาพของพวกเจ้า”

หลังจากนั้นสุลต่านก็กล่าวคำปราศรัยและสั่งเสียแก่กองทหารของท่าน

“โอ้บรรดานักรบทั้งหลาย มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮ แท้จริงพวกเจ้าได้กลายเป็นผู้พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลแล้วตามที่ท่านรอซูลได้ทรงกล่าวไว้ว่า “แท้จริงกรุงคอนสแตนติโนเปิลจะถูกพิชิตโดยพวกเจ้าและแท้จริงอะมีรที่ดีที่สุดคืออะมีรที่สามารถพิชิตมัน และแท้จริงกองทหารที่ดีที่สุดคือกองทหารของอะมีรนั้น”

สุลต่านได้สั่งกำชับไม่ให้ทหารสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเหล่านั้น พร้อมกับสั่งให้ทุกคนกลับไปยังบ้านเรือนของตนอย่างปลอดภัย และทำการเปลี่ยนโบสถ์อายาโซเฟียเป็นมัสยิด ส่วนโบสถ์อื่นๆก้ปล่อยให้อยู่เหมือนเดิมและใช้เป็นที่ละหมาดอัซรีในวันเดียวกัน หลังจากที่ได้สั่งให้เอาสัญลักษณ์ของคริสเตียนออกไปหมดแล้ว และทำการละหมาดวันศุกร์เป็นครั้งแรกหลังจากที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกเปิด

ท่าทีของสุลต่านมุหัมมัดในขณะที่เข้าไปยังตัวเมืองกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นท่าทีน่าสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นท่าทีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับบรรดาจอมทัพนักล่าอาณานิคมทั้งหลาย เพราะตามกติกาการสงครามในสมัยนั้นสุลต่านมีสิทธิที่จะขับไล่ไสส่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น หรือขายเขาเหล่านั้นที่ตลาดขายทาส แต่สุลต่านกลับมีจุดยืนที่อ่อนโยนและให้อภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักคิดชาวยุโรปปัจจุบันต่างแปลกใจและกังขากับจุดยืนดังกล่าวของสุลต่าน…

  1. สุลต่านได้ปล่อยให้เชลยศึกทั้งหมดเป็นไททันทีที่สามารถเปิดกรุงคอนสแตนติโนเปิล
  2. ในขณะที่สุลต่านอนุญาตให้กองทหารสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากกรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเวลาสามวันหลังจากการพิชิตนั้น สุลต่านอนุญาตให้เฉพาะในสิ่งที่เป็นสิ่งของเท่านั้น โดยไม่ได้แตะต้องหรือทำร้ายสตรี คนแก่ เด็กๆ หรือนักบวชแต่อย่างใด ไม่ได้ทำลายโบสถ์ บ้านเรือน และอื่นๆ ทั้งๆ ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกพิชิตด้วยกำลังทหาร
  3. ตามกฎหมายแล้วสุลต่านมีสิทธิอย่างเต็มที่ในฐานะตัวแทนของกองทหารที่จะครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในเมืองนี้ เช่นกับที่สุลต่านมีสิทธิที่จะเปลี่ยนส่วนหนึ่งของโบสถ์ให้เป็นมัสยิดตามแต่ชอบ และที่เหลือก็มอบให้กับชาวคอนสแตนติโนเปิลดูแลเอง แต่กลับพบว่ามีหนังสือสัญญามากมายที่บ่งบอกถึงจุดยืนของสุลต่านที่อนุญาตให้โบสถ์ต่างๆ อยู่ภายใต้การดูแลของชาวคริสเตียนกรุงคอนสแตนติโนเปิล เช่น โบสถ์โญกาลีญา อายา ลีบัส กีรา มาตุวา และอัลกัส
  4. สุลต่านได้ทำให้ออรทอดอกส์กลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ถูกทำลายลงโดยชาวคริสเตียนลัทธิคาทอลิก
  5. ให้สิทธิแก่ผู้ที่นับถือศาสนาต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับส่วนบุคคล เช่น การแต่งงาน การหย่าร้าง มรดก เรื่องเกี่ยวกับความตาย ในขณะที่สิ่งดังกล่าวแทบจะไม่มีให้เห็นในแถบยุโรปสมัยนั้น

3.1.14 เมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักรออตโตมาน
เนื่องจากสภาพความสวยงามและความเหมาะสมของกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่จะเป็นศูนย์กลางการปกครองหรือเมืองหลวงดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ดังนั้นสุลต่านมุหัมมัดจึงย้ายเมืองหลวงจากแอนเดรียมายังยังกรุงคอนสแตนติโนเปิลแห่งนี้ เพื่อเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักออตโตมาน และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “กรุงอิสตันบูล”


4.) ผลกระทบของการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลต่อยุโรปและโลกมุสลิม

การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลปิดฉากลงหลังจากที่มีความพยายามเพื่อพิชิตมันถึง 29 ครั้ง การล้มสลายของอาณาจักรโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทฯในครั้งนี้เป็นที่กล่าวขานในทั่วทุกมุมโลก มีทั้งทีสรรเสริญเยินยอและเกลียดชังสาปแช่ง ซึ่งจะสรุปคร่าวๆ ถึงจุดยืนของประชากรต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้พอสังเขปได้ดังนี้

(1.) ในส่วนของชาวคริสเตียนยุโรป เกิดความหวาดผวา บรรดากษัตริย์และเจ้าเมืองต่างรู้สึกตกใจ เจ็บแค้น และอดสูกับความพ่ายแพ้อันย่อยยับของกรุงคอนสแตนติโนเปิลอันเป็นศูนย์กลางทางศาสนาของชาวคริสต์ ดังนั้นพวกเขาจึงได้แสดงความเศร้าโศกเสียใจด้วยการแต่งกลอนและเล่นละครสะท้อนเหตุการณ์ดังกล่าว และมีการสัมนาพบปะกันระหว่างบรรดากษัตริย์และแกนนำเมืองต่างๆ พร้อมกับเรียกร้องให้มีความปรองดองกันและละทิ้งความขัดแย้งและความบาดหมางซึ่งกันและกัน เพราะพวกเขาเห็นว่าสาเหตุที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลต้องพ่ายแพ้แก่อาณาจักรออตโตมานอย่างราบคาบนั้นเพราะความแตกแยกและไม่สามัคคีกันในหมู่ชาวยุโรป.

(2.) ส่วนชาวคริสเตียนในกรุงคอนสแตนติโนเปิลและเมืองใกล้เคียงเนื่องจากพวกเขาอยู่ใกล้กับกรุงคอนสแตนติโนเปิล ดังนั้นพวกเขาจึงทำเป็นแสดงความดีใจกับการพิชิตครั้งยิ่งใหญ่ของมุสลิมในครั้งนี้ ด้วยการส่งตัวแทนไปแสดงความดีใจกับสุลต่านมุหัมมัดอัลฟาติห์ ซึ่งในจำนวนนี้ได้แก่สองพี่น้องของกษัตริย์คอนสแตนตีนที่ปกครองเมืองมูราห์.

(3.) ในส่วนของโลกมุสลิมต่างก็แสดงความปิติยินดีกันอย่างท่วมท้น และภูมิใจกับอาณาเขตใหม่ของอาณาจักรอิสลามแห่งตุรกีที่ครอบคลุมทั้งตะวันออกและตะวันตก และทันทีที่สุลต่านมุหัมมัดส่งข่าวไปยังอียิปต์ ฮิญาซ เปอร์เซีย และอินเดีย ถึงชัยชนะที่ตนได้รับก็ได้มีการเป่าประกาศบนมินบัรทันที และมีการตกแต่งบ้านเรือน ฝาผนัง และละหมาดชูโกรอย่างถ้วนหน้ากับชัยชนะที่มุสลิมได้รับ

(4.) การล่มสลายของอาณาจักรไบแซนไทน์หรือโรมันตะวันออกซึ่งมีศูนย์กลางการปกครองหรือเมืองหลวงที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ชาวยุโรป และการเปิดเมืองคอนสแตนติโนเปิลนี้ได้ปิดฉากยุคแห่งความมืด หรือยุคกลางลงและเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งการฟื้นฟูในทวีปยุโรป โดยที่บรรดานักประวัติศาสตร์ชาวยุโรปได้เริ่มนับยุคใหม่ของประวัติศาสตร์ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ.1453 หมายถึงวันที่อัลลอฮได้ทรงให้ชัยชนะแก่สุลต่านมุหัมมัดอัลฟาติห์นั่นเอง

(5.) บรรดานักคิดและนักปราชญ์ที่เคยอยู่ในกรุงคอนสแตนติโนเปิลค่อยทยอยย้ายเข้าไปยังประเทศต่างๆ ในแถบยุโรปในประเทศอิตาลี นับตั้งแต่นั้นมานักคิดตะวันตกได้ทำการศึกษาถึงความอ่อนแอของยุโรปและการสร้างความเจริญใหม่ ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเจริญในยุโรป ความพ่ายแพ้หลายต่อหลายครั้งอย่างต่อเนื่องของชาวยุโรปต่อชาวมุสลิม ทำให้ชาวยุโรปสำนึกและศึกษาถึงความอ่อนแอของพวกเขา ความสำนึกของชาวยุโรปได้รับผลสำเร็จหลังจากนั้น 40 ปี เมื่อแคว้นอาร์กอน และเคสติเลีย ในสเปน สามารถปลดปล่อยประเทศสเปนเป็นเอกราชหลังจากที่มุสลิมปกครองเป็นเวลาถึง 7 ศตวรรษ.

(6.) บทบาทและเหตุการณ์สำคัญของสุลต่านในการพิชิตเมืองต่างๆ




6.1 พิชิตเมืองเมาเราะห์ (อัลบาเนีย)
หลังจากนั้นสุลต่านก็เริ่มตระเวนไปยังเมืองอื่นๆเพื่อทำการพิชิต เริ่มแรกสุลต่านมุ่งไปยังเมืองเมาเราะห์ (อัลบาเนีย) ซึ่งตั้งอยู่ในแทบกรีก (ยูนาน) ทันทีที่ดิมัตริอูสและโทมัส (พี่น้องทั้งสองของคอนสแตนตีน) ได้รับข่างถึงการยกทัพของสุลต่านมุหัมมัด ทั้งสองก็ยอมสิโรราบด้วยการกระทำสัญญายอมจ่ายส่วยให้กับสุลต่านเป็นจำนวนเงิน 12,000 ดุกต่อปี แต่หลังจากที่สุลต่านยกทัพกลับ โทมัสกลับทำการปฏิวัติและเข่นฆ่าชาวตุรกีและดิมัตริอูส จนดิมัตริอูสต้องขอความช่วยเหลือจากสุลต่านอย่างรีบด่วน ได้ยินดังนั้นสุลต่านจึงนำกองทัพอย่างมากมายบุกโจมตีเมืองเมาเราะห์จนสามารถพิชิตในที่สุดในปี ฮ.ศ. 864 (ค.ศ. 1460 ) ส่วนโทมัสสามารถหลบหนีไปยังอีตาลีได้

6.2 พิชิตเมืองฟะลาค (โรมาเนีย)
หลังจากสุลต่านกลับมายังเมืองหลวงอิสตันบูล สุลต่านก็ได้จัดเตรียมความพร้อมด้านการรบเพื่อทำการโจมตีกษัตริย์แห่งเมืองฟะลากที่มีชื่อว่า กอลาดดัรเราะห์ เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำอันป่าเถื่อนของกอลัดดัรเราะห์ต่อประชาชนเมืองฟะลากและบรรดาพ่อค้ามุสลิมที่พักอยู่ ณ เมืองดังกล่าว หลังจากที่กษัตริย์แห่งเมืองฟะลากได้ทราบข่าวการเดินทางของสุลต่าน ท่านก็ได้ส่งทูตมาเจรจากับสุลต่านด้วยการจ่ายเงินจำนวน 10,000 ต่อปี โดยมีเงื่อนไข่ว่าสุลต่านต้องยอมรับถึงข้อแม้ต่างๆ ที่ได้ถูกสัญญาไว้สมัยที่มีเจรจาระหว่างท่านกับสุลต่านบายะซวีด เมื่อปี ค.ศ. 1393 สุลต่านยอมรับถึงข้อแม้ดังกล่าวหลังจากนั้นก็เดินทางกลับยังกรุงอิสตันบูล ในขณะนั้นเองกษัตริย์แห่งเมืองฟะลากจึงได้ทำสัญญาร่วมกับกษัตริย์ฮังการีเพื่อทำการโจมตีชาวมุสลิม

เมื่อข่าวดังกล่าวถึงหูสุลต่าน ท่านจึงได้ส่งทูตสองคนเพื่อดินทางไปถามไถ่ถึงเรื่องการร่วมมือดังกล่าวยังเมืองฟะลาก แต่กษัตริย์ฟะลากกลับประหารทั้งสอง ต่อมาก็ได้ทำการโจมตีบัลแกเรียซึ่งเป็นเมืองใต้ปกครองของอาณาจักรออตโตมาน ดังนั้นสุลต่านจึงได้ส่งฑูตไปยังกษัตริย์แห่งเมืองฟะลากอีกครั้งหนึ่งเพื่อสั่งให้ยอมสิโรราบด้วยดีต่ออาณาจักรอิสลาม แต่กษัตริย์ฟะลากกลับฆ่าฑูตของสุลต่านอีกเป็นครั้งที่สอง ด้วยความโกรธสุลต่านจึงได้ยกทัพด้วยตนเองทันทีซึ่งมีกำลังทหารถึง 100,000 นาย เพื่อทำการโจมตีกษัตริย์ผู้ป่าเถื่อนคนนี้ ดังนั้นจึงเกิดการปะทะกันระหว่างอย่างดุเดือดจนสุดท้ายจบลงด้วยการได้รับชัยชนะของสุลต่าน ส่วนกษัตริย์แห่งเมืองฟะลากสามารถหลบหนีไปกบดานพร้อมๆ กับกษัตริย์ฮังการี นับตั้งแต่นั้นมาเมืองฟะลากจึงตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมาน และสุลต่านได้แต่งตั้งให้ราอูลน้องชายของกษัตริย์ฟะลากขึ้นเป็นกษัตริย์แทนพี่ชาย.

6.3 พิชิตเมืองบอสเนีย
ในปี ฮ.ศ. 867 (ค.ศ. 1463 ) สุลต่านได้ยกทัพไปตีเมืองบอสเนีย เหตุเพราะกษัตริย์บอสเนียบ่ายเบี่ยงไม่ยอมจ่ายส่วยแก่อาณาจักรอิสลาม ดังนั้นจึงเกิดการปะทะกันขึ้น ในที่สุดกษัตริย์แห่งบอสเนียและลูกชายถูกจับและถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา ดังนั้นเมืองบอสเนียจึงยอมสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรอิสลาม ต่อมาในปีฮ.ศ.  868 (ค.ศ. 1464 ) มิตยาส เกิรฟัน บุตรของโฮเนียด กษัตริย์แห่งฮังการีได้ยกทัพไปยังเมืองบอสเนียเพื่อจะปลดแอกบอสเนียจากการปกครองของอาณาจักรอิสลาม ดังนั้นจึงเกิดการปะทะกันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดสงครามก็จบลงด้วยการปราชัยของกษัตริย์ฮังการี ดังนั้นเมืองบอสเนียจึงตกเป็นเมืองใต้ปกครองของอาณาจักรออตโตมานอย่างสมบูรณ์.

6.4 พิชิตเมืองอุรญูสและเกาะอัจรีบูส
ต้นเหตุแห่งการพิชิตในครั้งนี้เนื่องจากในปี ฮ.ศ. 867 มีทาสคนหนึ่งได้หนีไปยังเมืองคูรูน (เขตการปกครองของชาวคริสเตียน) สุลต่านจึงได้ขอร้องให้ผู้ปกครองในเขตดังกล่าวส่งทาสคนนั้นกลับ แต่ผู้ปกครองในเขตดังกล่าวกลับปฏิเสธไม่ยอมมอบให้ด้วยข้ออ้างที่ว่าทาสคนนั้นได้เข้ารับนับถือศาสนาคริสต์แล้ว ดังนั้นสุลต่านจึงได้ส่งกองทัพไปขยี้เมืองอุรญูสเสีย ต่อมาในปี ฮ.ศ. 874 (ค.ศ. 1470 ) สุลต่านสามารถพิชิตเกาะอัจริบูส ซึ่งเป็นเกาะใต้การปกครองของบนีดุกิยะห์ (เวนิส)

6.5 พิชิตเมืองอื่นๆ
ในปี ฮ.ศ. 884 (ค.ศ. 1479) สุลต่านสามารถพิชิตเมืองอัฟลาก (วาเลเชีย) ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่อยู่ในประเทศโรมาเนียปัจจุบัน และในปีฮ.ศ. 885 (ค.ศ. 1480) สุลต่านสามารถพิชิตเกาะยูนานซึ่งตั้งอยู่ระหว่างประเทสยูนานกับประเทศอิตาลี และสามารถพิชิตเมืองอุตรานิต (อยู่ในอิตาลีปัจจุบัน) และสุลต่านยังสามารถพิชิตเมืองอื่นๆ อีกมากมาย

6.6 พิชิตเมืองต่างๆ ในแถบเอเชียน้อย
หลังจากนั้นสุลต่านก็หันมาสนใจเมืองต่างๆ ทางเอเชียน้อย เพื่อทำการพิชิตและครอบครองเมืองในแถบดังกล่าว โดยเริ่มแรกสุลต่านได้โจมตีท่าเรือ อมาสตริส ซึ่งเป็นศูนย์การค้าของชาวบนีดุกิยะห์ (เวนิส) สุลต่านสามารถครอบครองท่าดังกล่าวอย่างง่ายดาย เพราะประชาชนในแถบนั้นไม่กังวลกับเรื่องดังกล่าว ขอเพียงให้ทรัพย์สินของพวกเขาปลอดภัยและไม่ถูกคุกคาม และพวกเขาสามารถทำมาหากินตามปกติก็พอ

ในปี ฮ.ศ. 865 สุลต่านมุหัมมัดได้ยกทัพไปยังเมืองอะมีรอิสฟันเดียร์ – อะมีร แห่งเมืองสีนุบเจรจาขอให้อะมีรมอบเมืองของเขาแก่สุลต่านโดยดี อะมีรอิสฟันเดียร์ก็ยอมปฏิบัติตามคำขอดังกล่าว

ในปี ฮ.ศ. 866 สุลต่านมุหัมมัดได้ยกทัพด้วยตนเองไปยังเมืองเตาะรอบะซูน และสุลต่านสามารถเข้าไปยังเมืองดังกล่าวอย่างง่ายดาย สุลต่านได้จับกษัตริย์ ภรรยาและลูกของกษัตริย์เตาะรอบะซูน แล้วส่งมายังเมืองหลวงอิสตันบูล

หลังจากนั้นสุลต่านก็ทำการพิชิตเมืองกอรมาน เพราะสภาพความเป็นอยู่ภายในเกิดความวุ่นวายอันเนื่องมาจากอะมีรแห่งเมืองกอรมานที่มีชื่อว่า อิบรอฮีม ได้แต่งตั้งอิสหากลูกชายที่ได้กับทาสหญิงขึ้นเป็นอะมีรหลังจากที่ท่านเสียชีวิต ดังนั้นจึงเกิดการต่อต้านจากบรรดาลูกๆ ที่มาจากภรรยาที่เป็นไท เห็นดังนั้นสุลต่านมุหัมมัดจึงทำการปราบปรามอิสหากและแต่งตั้งพี่ชายคนโตเป็นอะมีรแทน และในปี ฮ.ศ. 875 สุลต่านก็ได้รวมเอาเมืองกอรมานเข้าเป็นหนึ่งในหัวเมืองของอาณาจักรออตโตมาน

6.7 จัดระบบการปกครองในประเทศ
สุลต่านมุหัมมัดที่สองไม่เพียงมีความปราดเปรื่องด้านการทหารเท่านั้น สุลต่านยังเป็นนักบริหารประเทศและนักวางแผนที่เก่งฉกาจคนหนึ่งด้วย ในบรรดาการจัดระบบการบริหารที่สุลต่านมุหัมมัดได้สร้างไว้คือ

6.8 จัดตั้งระบบสภา
สภาเป็นสถานที่รวมของบรรดาเหล่าขุนนางชั้นผู้ใหญ่และผู้ที่มีหน้าที่สำคัญๆ ในการบริหารประเทศ การรวมตัวนั้นจะกระทำขึ้นทุกวัน ณ พระราชวังของสุลต่าน เริ่มตั้งแต่เช้าจนถึงตะวันคล้อยยกเว้นวันหยุดราชการ

6.9 สร้างระบบและกฎหมายการบริหารประเทศ
เล็งเห็นถึงความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้น และความขัดแย้งที่อาจจะประทุขึ้นระหว่างประชาชนที่ประกอบด้วยชาวเตร์ก กรีก บัลกาเรีย อัลบาเนีย ชาวคริสเตียนนิกายออรทอดอกซ์ และนิกายคาทอลิกซ์ ดังนั้นสุลต่านมุหัมมัดจึงได้ร่างกฎหมายเฉพาะเพื่อเป็นการประกันถึงความสงบสุขและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนที่มีความแตกต่างเหล่านั้น

6.10 จัดให้มีวิธีการเฉพาะในด้านการใช้กฎหมาย
เพื่อความสำเร็จในเรื่องดังกล่าวสุลต่านได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบรรดาอุลามาอฺขึ้นชุดหนึ่ง คณะกรรมการชุดนี้แหละที่มีหน้าที่ขบคิดและสร้างวิธีการเฉพาะในการสำเร็จกฎหมายในประเทศโดยทั่วกัน

6.11 สร้างอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ
ในสมัยการปกครองของสุลต่านมุหัมมัดได้มีการสร้างมัสยิดหลายๆ หลัง ในจำนวนนั้นได้แก่มัสยิดอัลฟาติห์ สุลต่านได้จัดให้มีห้องสมุดประจำมัสยิดทุกมัสยิดซึ่งถูกบบรจุด้วยหนังสือสำคัญๆ ทั้งที่เป็นภาษาอาหรับ เปอร์เซีย ยูนาน และตุรกี พร้อมกับจัดให้มีโรงเรียน ห้องพยาบาล สถานที่จัดเลี้ยงคนอนาถาและยากจน ขุดบ่อ และความสะดวกอื่นๆ นอกจากนี้สุลต่านยังได้สร้างโรงงานผลิตเรือรบที่สามารถผลิตเรือเพื่อการสงครามเป็นจำนวนมาก
6.12 การเสียชีวิตของสุลต่าน
หลังจากสุลต่านได้ใช้ชีวิตในการญิหาดในหนทางของอัลลอฮและปกครองประชาราษฎร์อย่างยุติธรรมเป็นเวลาประมาณ 30 ปี กับอีก 2 เดือนครึ่ง ดังนั้นในวันที่ 4 เดือนรอบีอุลเอาวัล ปี ฮ.ศ. 886 ตรงกับวันที่ 3 เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1481 สุลต่านมุหัมมัด อัลฟาติห์ก็ได้สิ้นชีวิตลงในอายุประมาณ 53 ปี สุลต่านได้ทิ้งอาณาจักรออตโตมานที่มีอาณาเขตกว้างขวางถึง 2,214,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งในเขตอนาโตเลียและเขตยุโรป โดยเขตแดนทางตอนเหนือเริ่มจากตอนใต้ของมอสโค

---------------------------------------------------

ภาพยนตร์ประกอบบทความ


  • หมายเหตุ : ฉากบางส่วนในภาพนตร์อาจจะไม่ตรงตามหลักการของอิสลาม โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม 



read more "มูฮัมหมัด อัลฟาติฮ (Muhammad Alfatih) ผู้พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล"

วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560

บัญชีความดีของ "อุสมาน อิบนุ อัฟฟาน" ณ อัลลอฮ์

บัญชีความดีของ "อุสมาน อิบนุ อัฟฟาน" ณ อัลลอฮ์




- คุณรู้มั้ยว่า...ปัจจุบันมีบ่อน้ำที่ใช้ชื่อ "อุสมาน อิบนุ อัฟฟาน" อยู่ที่ซาอุดิอาระเบีย!!"

- แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า...มีโครงการสวนอินทผลัมขนาดใหญ่ซึ่งใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการอย่างครบวงจรโดยใช้ชื่อของท่านเช่นกัน??"

- หรือว่าท่านทิ้งมรดกไว้ให้ทายาทดำเนินการในเรื่องนี้!!!

----------------------------------------------------------------------

ภายหลังที่ชาวมุฮาญิรีนได้อพยพจากมักกะฮ์ไปมะดีนะฮ์ นั่นทำให้จำนวนมุสลิมในมะดีนะฮ์มีเพิ่มขึ้น กระนั้น พวกเขายังคงขาดแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค เวลานั้นแหล่งน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองมะดีนะฮ์คือ "บ่อน้ำรูมะฮ์" ซึ่งถือเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ แต่ปัญหาของชาวเมืองก็คือ บ่อน้ำแห่งนี้ครอบครองโดยชาวยิวหน้าเลือดจนแม้แต่น้ำหยดเดียวเขาก็ไม่ยอมให้ใครใช้ฟรีๆ

เมื่อท่านอุสมาน อิบนุ อัฟฟานทราบเรื่องดังกล่าว เขาจึงไปหาชายชาวยิวคนนั้นเพื่อเจรจาขอซื้อบ่อน้ำรูมะฮ์ ในตอนแรกชาวยิวปฏิเสธที่จะขายมัน ท่านอุสมานจึงต่อรองกลับไปว่า ท่านจะขอซื้อมันเพียงครึ่งเดียวก็ได้ โดยให้สลับวันถือครองบ่อน้ำคนละวัน แต่ละคนมีสิทธิในการขายน้ำในบ่อในวันของตน

ยิวผู้นั้นคิดในใจว่า หากท่านอุสมานมาร่วมเป็นหุ้นส่วนถือครองบ่อน้ำ ราคาของน้ำคงพุ่งสูงขึ้นเป็นแน่ เพราะประสบการณ์การค้าของท่านอุสมานได้ประจักษ์แล้วว่าการสร้างผลกำไรอันมากมาย เขาจึงตกลงตามข้อเสนอของท่านอุสมาน

เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่คิด...ยอดขายน้ำของชาวยิวลดลงเรื่อยๆจนไม่มีคนมาซื้อน้ำกับเขาอีก เขาแปลกใจมากจึงหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร เขาพบว่าในวันของท่านอุสมาน ท่านจะอุทิศมันไปเพื่ออัลลอฮ์ ผู้คนจะออกกันไปตักน้ำในบ่อเก็บเอาไว้ใช้ตามความจำเป็นโดยไม่ต้องจ่ายสิ่งแลกเปลี่ยนใดๆ ดังนั้น คนทั้งหมดจึงใช้น้ำในวันของท่านอุสมาน และไม่มีใครไปซื้อน้ำในวันของชาวยิว เมื่อชาวยิวรู้สึกว่าตนกำลังจะขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆเขาจึงตัดสินใจเสนอขายสิทธิทั้งหมดในบ่อน้ำให้แก่ท่านอุสมาน ซึ่งท่านก็รับซื้อมันไว้ด้วยราคาสูงถึง 2 หมื่นเหรียญทองคำ (ดิรฮัม) แล้วอุทิศ (วะกัฟ) บ่อน้ำนี้แด่อัลลอฮ์เพื่อให้บรรดามุสลิมได้ใช้กัน

จากนั้นไม่นาน ซอฮาบะฮ์ท่านหนึ่งได้เสนอขอซื้อบ่อน้ำจากท่านด้วยราคาที่สูงขึ้นเป็น 2 เท่า ท่านบอกกับเขา "ให้ราคาฉันสูงกว่านี้อีกซิ" เขาจึงบอกว่า "ถ้างั้นฉันให้สูงกว่าเดิม 3 เท่า" ท่านจึงบอกกับเขา "ให้ราคาฉันสูงกว่านี้อีกซิ" การต่อรองดำเนินต่อไปจนกระทั่งผู้ขอซื้อยื่นราคาสุดท้ายที่ 9 เท่า แต่ท่านอุสมานก็ยังคงปฏิเสธ ซอฮาบะฮ์คนนั้นรู้สึกแปลกใจมากกับท่าทีของท่านอุสมาน เขาจึงพูดกับท่านว่า


"...ฉันว่าไม่มีใครอีกแล้วที่จะให้ราคาบ่อน้ำนี้สูงไปกว่าฉันอีก!!"


ท่านอุสมานตอบกลับไปว่า "มีซิ!..อัลลอฮ์งัยที่พระองค์จะทรงตอบแทนการทำความดี 1 ความดีให้มากถึง 10 เท่า"


บรรดามุสลิมในยุคต่อๆ มายังคงได้ใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำที่ท่านอุสมานได้วะกัฟทิ้งไว้ จากนั้น บริเวณรอบๆ บ่อเริ่มมีต้นอินทผลัมงอกเงยขึ้น...ในยุคออตโตมันต้นอินทผลัมเหล่านั้นได้รับการดูแลจนเติบโตจากทางราชการ เรื่อยมาจนถึงสมัยการปกครองของราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย ภารกิจดังกล่าวก็ยังคงได้รับการสานต่อจนจำนวนต้นอินทผลัมมีเพิ่มขึ้นเป็นหลายพันต้น

ปัจจุบัน ทางการซาอุดิอาระเบียได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรทำหน้าที่วิจัยพันธุ์อินทผลัม ผลิต ต่อยอด และจัดจำหน่ายผลอินทผลัมซึ่งได้จากสวนดังกล่าวไปตามท้องตลาด โดยรายได้ถูกจัดสรรใช้กิจการศาสนา ทั้งการดูแลเด็กกำพร้า คนยากจน สร้างหรือบูรณะปรับปรุงมัสยิด ฯลฯ ซึ่งมีกระทรวงศาสนสมบัติ (เอาก็อฟ) กำกับดูแลอยู่


.....ซุบฮานั้ลลอฮ์!! ที่เล่ามามันคือเรื่องของผู้ที่ได้ทำการค้ากับอัลลอฮ์ซึ่งผลของมันยังคงยาวนานต่อเนื่องมามากกว่า 14 ศตวรรษ จนเราจินตนาการไม่ออกถึงภาคผลของมันในบัญชี ณ ที่อัลลอฮ์ได้


ด้วยเหตุนี้เอง ท่านรซูลจึงกล่าวว่า "ทุกๆ นบีจะมีคนสนิท และคนสนิทของฉันในสวรรค์คือ อุสมาน"


...เราแปลกใจไหมว่าเหตุใด "คนตาย" จึงจะเลือกทำ "ศอดาเกาะฮ์" หากกลับมามีชีวิตได้ ดังที่อัลลอฮ์เล่าให้ฟังว่า


فَيَقُولَ رَبِّ لَوْلَا أَخَّرْتَنِي إِلَىٰ أَجَلٍ قَرِيبٍ فَأَصَّدَّقَ 


"...ดังนั้น คนที่ตายแล้วจะกล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ มาตรว่าพระองค์ท่านทรงผ่อนผันให้แก่ข้าพระองค์อีกชั่วเวลาเพียงเล็กน้อย ข้าพระองค์ก็จะไปทำการบริจาค (ซอดาเกาะฮ์)..."


ทั้งนี้ เพราะคนตายได้ตระหนักในตอนนั้นแล้วว่า สิ่งนี้จะยังประโยชน์แก่เขาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเขาจะจากดุนยานี้ไปแล้วก็ตาม


เล่าเรื่องโดย : อาดัม เปลี่ยนอำรุง

ที่มา : เรื่องเล่าจากอิสลาม


#สารพันบทความ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online


read more "บัญชีความดีของ "อุสมาน อิบนุ อัฟฟาน" ณ อัลลอฮ์"

วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ท่านทราบไหมว่า ในอัลกุรอาน ได้มีการกล่าวถึง คนที่มีอายุ 40 ปี ไว้อย่างไรบ้าง?

ท่านทราบไหมว่า ในอัลกุรอาน ได้มีการกล่าวถึง คนที่มีอายุ 40 ปี ไว้อย่างไรบ้าง?





حَتَّى إَذَا بَلَغَ أَشُدَّهُ وَبَلَغَ أَرْبَعِيْنَ سَنَةً قَالَ رَبِّ أَوْزِعْنِى أَنْ أَشْكُرَ نِعْمَتَكَ الَّتِى أَنْعَمْتَ عَلَيَّ وَعَلَى وَالِدَيَّ وَأَنْ أَعْمَلَ صَالِحًا تَرْضَاهُ وَأَصْلِحْ لِى فِى ذُرِّيَّتِى إِنِّى تُبْتُ إِلَيْكَ وَإِنِّى مِنَ الْمُسْلِمِيْنَ 
١٥)  الاحقاف)

จนกระทั่งเมื่อเขาบรรลุวัยฉกรรจ์ของเขาและมีอายุถึงสี่สิบปี เขาจะกล่าววิงวอนว่า ข้าแต่พระเจ้าของเข้าพระองค์ขอพระองค์ทรงโปรดประทานแก่ข้าพระองค์ เพื่อให้ข้าพระองค์ขอบคุณต่อความโปรดของพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงโปรดปรานแก่ข้าพระองค์และบิดามารดาของข้าพระองค์ และให้ข้าพระองค์ทำความดีเพื่อให้ความดีเกิดขึ้นในลูกหลานของข้าพระองค์ แท้จริงข้าพระองค์ขอลุแก่โทษต่อพระองค์ และแท้จริงข้าพระองค์อยู่ในหมู่ผู้นอบน้อม (อัลอะฮ์กอฟ : 15)


وفى تفسير ابن كثير: وهذا فيه إرشاد لمن بلغ الأربعين أن يجدد التوبة والإنابة إلى الله - عز وجل - ويعزم عليها.


ท่านอิบนุกาซีรได้อธิบายเกี่ยวกับโองการนี้ไว้ว่า เมื่อคนเราเข้าสู่วัย 40 ปี จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นั้นต้องเตาบัตและหวนกลับคืนสู่อัลลอฮ์อย่างจริงจังและแท้จริง โองการนี้ได้มีการกล่าวถึง อายุ 40 ปีอย่างชัดเจน เพราะเมื่อคนเราเข้าสู่อายุ 40 ปีนั่นหมายถึง เขากำลังเข้าสู่ความสมบูรณ์ของชีวิตทั้งทางร่างกาย ความคิดจิตใจ และอารมณ์ ดุอาในโองการดังกล่าวนั้น ได้ส่งเสริมให้บรรดาผู้ที่มีอายุได้ 40 ปีขึ้นไปได้ขอดุอา เป็นดุอาที่แสดงออกถึง การมีจิตวิญญาณแห่งการชุโกรในการได้รับเนียะอ์มัตต่างๆ นานาอย่างสมบูรณ์จากการได้มีครอบครัว มีลูกหลาน มีการส่งเสริมให้ทำอามัลอิบาดะห์ให้มากขึ้น ให้เตาบัตและหวนกลับคืนสู่หนทางของพระองค์ อัลลอฮ์ได้ทรงโองการไว้ในซูเราะห์ อัลฟาติร : 37

(أَوَلَمْ نُعَمِّرْكُمْ مَا يَتَذَكَّرُ فِيْهِ مَنْ تَذَكَّرَ وَجَاءَكُمُ النَّذِيْرُ (٣٧

และเรามิได้ให้อายุของพวกเจ้ายืนนานพอดอกหรือ เพื่อผู้ที่ใคร่ครวญจะได้รำลึกถึงข้อตักเตือนและ (ยิ่งกว่านั้น) ได้มีผู้ตักเตือนมายังพวกเจ้าแล้ว

عن مجاهد قال : سمعت ابن عباس يقول : العمر الذي أعذر الله إلى ابن آدم : ( أولم نعمركم ما يتذكر فيه من تذكر ) أربعون سنة .

มุญาฮิดได้กล่าวไว้ว่า ฉันได้ฟังจากอิบนุอับบาสได้กล่าวว่า “อายุที่อัลลอฮ์ทรงให้ลูกหลานอาดัมได้ตระหนักนั้น คือ อายุ 40 ปี” 


( أَوَلَمْ نُعَمِّرْكُمْ مَا يَتَذَكَّرُ فِيْهِ مَنْ تَذَكَّرَ وَجَاءَكُمُ النَّذِيْرُ )
عن مسروق أنه كان يقول : إذا بلغ أحدكم أربعين سنة ، فليأخذ حذره من الله عز وجل .

มัซรูกได้กล่าวว่า “เมื่อใดที่คนๆหนึ่งมีอายุ 40 ปี ดังนั้น เขาจงตระหนักถึงบทเรียนต่างๆ จาก อัลลอฮ์” อายุ 40 ปีเป็นช่วงเวลาแห่งความสมบูรณ์ทาง ความคิด จิตใจและร่างกายของคนเรา ต่อการได้รวบรวมเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ชีวิต เพื่อให้เกิดความฉลาดหลักแหลม มีฮิกมะห์และปัญญามากขึ้น สามารถละทิ้งความไร้สาระต่างๆ นานาจากที่เคยเป็นวัยรุ่น มีการใช้ความคิด พินิจพิจารณาสิ่งต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นจึงมิใช่เรื่องแปลก ที่ว่าบรรดาผู้นำต่างๆ ได้เกิดขึ้นมาในช่วงวัย 40 ปีนี้

ท่านอิบนุอับบาส ได้กล่าวถึงท่านร่อซูลุลลอฮ์ไว้ว่า:

عن ابن عباس قال أنزل على رسول الله صلى الله عليه وسلم وهو ابن أربعين فأقام بمكة ثلاث عشرة وبالمدينة عشرا وتوفي وهو ابن ثلاث وستين قال أبو عيسى هذا حديث حسن صحيح 


“วะฮ์ยูได้ถูกประทานลงมาให้กับท่านร่อซูลุลลอฮ์ในขณะที่ท่านมีอายุได้ 40 ปี หลังจากนั้นท่านได้ใช้เวลาอยู่ที่มักกะห์ 13 ปี และที่มาดีนะห์อีก 10 ปีและท่านได้ถึงเสียชีวิตเมื่อมีอายุได้ 63 ปี” (ติรมีซีย์)

จากรายงานของท่านอิบนุอับบาส ท่านร่อซูลุลลอฮ์ได้กล่าวว่า:

 من أتى عليه أربعون سنة ولم يغلب خيره شره فليتجهز إلى النار 


ผู้ใดที่มีอายุได้ 40 ปี และอามัลคุณความดีของเขายังไม่เท่าไร และไม่สามารถเอาชนะความชั่วร้ายของเขาได้ ดังนั้น เขาจงเตรียมตัวเข้าสู่นรกเถิด”

ดังนั้น เมื่อคนเราเข้าสู่วัย 40 ปี จงให้ความสำคัญและตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ไว้ให้ดี คือ..
  1. มีเป้าหมายในชีวิตที่แน่วแน่
  2. ยกระดับอับเกรดจิตวิญญาณให้เข้มแข็ง
  3. ให้ความหงอกของเส้นผมเป็นข้อเตือนใจ
  4. เพิ่มการชุโกรต่ออัลลอฮ์ให้มากขึ้น
  5. ดูแลรักษา เรื่องอาหารการกิน และการพักผ่อน
  6. ดูแลรักษา การทำอามัลอิบาดะห์ให้สมบูรณ์



read more "ท่านทราบไหมว่า ในอัลกุรอาน ได้มีการกล่าวถึง คนที่มีอายุ 40 ปี ไว้อย่างไรบ้าง?"

วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

มุสลิม มิลเลนเนียน (Muslim Millennials)

มุสลิม มิลเลนเนียน (Muslim Millennials) : เจเนอเรชั่นที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์มุสลิมในอเมริกา



ผลการวิจัยจากศูนย์วิจัย Pew แห่งสหรัฐอเมริกาค้นพบว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันมุสลิมมีอายุน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดย 50% ของมุสลิมในอเมริกาเป็นหนุ่มสาวรุ่นสหัสวรรษเสียส่วนใหญ่ และ 32% ของคนรุ่นนี้ถือเป็นเด็กอเมริกันรุ่นใหม่ที่เกิดระหว่างช่วงปีค.ศ.1981-1999 (คนที่เกิดช่วงระหว่างนี้จะถูกเรียกว่าคนยุค Millennials) โดยส่วนใหญ่ถือกำเนิดหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ที่เคยจารึกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของอเมริกา

งานวิจัยยังระบุอีกด้วยว่า 52% ของ Muslim Millennials เหล่านี้ไม่ได้เกิดในประเทศอเมริกา โดยครึ่งหนึ่งของประชากรมุสลิมรุ่นใหญ่ทั้งหมดในอเมริกานี้ล้วนถือกำเนิดจากต่างประเทศ และ 64% ถือเป็นผู้อพยพที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ผลการวิจัยดังกล่าวถูกตีแผ่ขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ประกาศยกเลิกโครงการ DACA ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเหลือและคุ้มครองเยาวชนจากครอบครัวผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลโอบามาตั้งแต่ปีค.ศ. 2012
.
แม้จะถูกกระแสต่อต้านจากชาวอเมริกันถาโถมบ่อยครั้ง แต่ Muslim Millennials กลุ่มนี้ก็ยังคงยืนหยัดอยู่ในครรลองของสังคมได้เป็นอย่างดี จนมีแนวโน้มสูงขึ้นว่าสังคมอเมริกันเริ่มมีมุมมองที่ดีต่ออิสลามและชาวมุสลิมทั่วไปเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์กันด้วยว่า Muslim Millennials ถือเป็นกลุ่มประชากรที่มีศักยภาพสูงมาก มีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมและเป็นแนวหน้าของประชากรมุสลิมในอเมริกาที่มีจุดยืนอย่างชัดเจน แม้ว่าสื่อตะวันตกจะพยายามสร้างนิยามให้กับชาวมุสลิมในรูปแบบใด แต่พวกเขาก็ไม่ปล่อยให้นิยามเหล่านั้นมาตีกรอบความคิดและกำกับอนาคตของพวกเขาเอง

จึงเรียกได้ว่า Muslim Millennials เป็นเจเนอเรชั่นสำคัญแห่งหน้าประวัติศาสตร์ของชาวอเมริกันมุสลิมกันเลยทีเดียว


ที่มา : http://www.worldreligionnews.com/religion-news/

#HalalLife #GlobalUpdate
ที่มา : Halal Life Magazine
https://m.facebook.com/



#ประชาชาติอิสลาม_Islamic_Society_Online
#สารพันบทความ_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online


read more "มุสลิม มิลเลนเนียน (Muslim Millennials) "

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...