Mustafa Dawa ชายผู้อาสาขุดหลุมฝังศพผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย
“เลบอส” คือเกาะเล็กๆ ของประเทศกรีซ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของทะเลอีเจียนฝั่งตรงข้ามกับประเทศตุรกี ในอดีตที่นี่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นขุมนรกบนความงดงาม นับตั้งแต่เกิดวิกฤติผู้ลี้ภัยที่ผู้อพยพหลั่งไหลหนีตายเข้ามาบนเกาะนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะนี้ มักได้รับการกล่าวขานว่าคือที่สุดของการเป็นฮีโร่ ฮีโร่ผู้ซึ่งพยายามต่อสู้กับความหายนะและคอยยื่นมือช่วยเหลือผู้อพยพที่รอดชีวิตมาได้จนถึงฝั่ง
ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อวิกฤติดังกล่าวได้เริ่มต้นในปี 2015 ผู้คนต่างพากันช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยตามชายหาดต่างๆ ครั้งนั้นมีชาวประมงท้องถิ่นคนหนึ่งได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนับสิบที่ต้องลอยแพแขวนชีวิตอยู่กลางทะเลให้รอดพ้นจากความตายและความโศกเศร้า และในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกันนั้น ทางองค์การสหประชาชาติและองค์กรเอกชนอื่นๆ จึงได้เริ่มยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและก่อตั้งศูนย์บรรเทาเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ณ ที่นั้นเป็นต้นมา แต่อย่างไรก็ตามจำนวนผู้อพยพก็ยังคงเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด แม้ทางสหภาพยุโรปได้พยายามเจรจากับทางตุรกีและขู่เข็ญบังคับให้โยกย้ายผู้ลี้ภัยออกจากพื้นที่แล้วก็ตาม กระนั้นก็ยังมีผู้คนอยู่อีกจำนวนมากที่พยายามข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อเข้ามายังชายฝั่งของเกาะแห่งนี้
เมื่อกาลเวลาผ่านไปค่ายผู้ลี้ภัยก็เริ่มแออัดมากขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรเพื่อประทังชีวิตก็เริ่มลดลง ผู้คนตกอยู่ในภาวะโศกเศร้ากันเป็นจำนวนมาก ความตายจึงเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในทุกวี่วันด้วยสาเหตุนานัปการ บางคนที่รอดชีวิตจากทะเลได้ก็ต้องมาจบชีวิตกับพิษก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เกิดจากอุปกรณ์ทำความร้อนที่พวกเขาใช้มันเพื่อให้ความอบอุ่นในเต๊นท์ที่พักอันหนาวเหน็บ บ้างก็จบชีวิตด้วยเหตุไฟไหม้ที่เกิดจากแก๊สหุงต้มขณะประกอบอาหาร บ้างก็ตายเพราะความเหน็บหนาว บางรายจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายก็มี
Mustafa Dawa คือบัณฑิตหนุ่มด้านอิสลามศึกษาชาวอียิปต์ที่ย้ายมาอาศัยอยู่ในประเทศกรีซเพื่อศึกษาด้านวรรณกรรมกรีกเมื่อหลายปีก่อน เช่นเดียวกับอาสาสมัครคนอื่นๆ Dawa เป็นคนหนึ่งที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ลี้ภัย เขาอาสาเป็นล่ามแปลภาษาให้กับกลุ่มผู้รอดชีวิตเหล่านั้น วันหนึ่งขณะที่เขากำลังช่วยเหลือชายชาวซีเรียคนหนึ่งค้นหาสมาชิกในครอบครัว เมื่อตรงไปยังโรงพยาบาลเขากลับพบว่าที่นั่นมีศพผู้เสียชีวิตนอนตายไร้ญาติเป็นจำนวนมากถึง 45 ศพ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา Dawa จึงรู้สึกว่าเขาต้องทำอะไรบางอย่างกับสิ่งที่เขาเห็น และเนื่องจากสุสานคริสต์นั้นไม่มีพื้นที่ว่างพอ เขาจึงจำเป็นต้องรอนานถึงหนึ่งเดือนเพื่อที่จะได้มาซึ่งที่ดินว่างเปล่าหนึ่งแปลงเพื่อจัดการฝังศพเหล่านั้นให้ถูกต้องตามหลักการของศาสนาอิสลาม
แม้ Dawa จะเรียนจบทางด้านอิสลามศึกษาจากมหาวิทยาลัย Al-Zhar ในประเทศอียิปต์ แต่กระนั้นเขาก็ไม่เคยจับต้องศพที่ใดมาก่อนในชีวิต เขาอธิบายให้ฟังว่า “ตามหลักการของอิสลามแล้ว พิธีกรรมฝังศพผู้ตายถือเป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคน ต้องรับผิดชอบร่วมกัน และหากไม่มีการจัดการใดๆ จากใครเลย มุสลิมทุกคนจะต้องร่วมรับผิดชอบต่อมลทินที่จะเกิดขึ้น” ความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งและความรู้สึกว่าตนเองกำลังอยู่ในตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบนั้นได้ชี้นำให้ Dawa สามารถปฏิบัติทุกกระบวนท่าของการจัดการศพด้วยตนเอง เขาอาบน้ำศพและจัดวางตำแหน่งศพบนโต๊ะสีขาว ห่อศพด้วยผ้าสีขาวและละหมาดให้ศพ ท่ามกลางพื้นที่ว่างเปล่าห้อมล้อมด้วยต้นมะกอกอันเดียวดาย
“พวกเขาเหล่านี้คือคนพลัดถิ่น คือคนที่ควรจะมีโอกาสเสียชีวิตบนแผ่นดินบ้านเกิดของตนเอง ในซีเรีย ในอิรัก หรือในอัฟกานิสถาน แต่พวกเขากลับต้องมาตายในสภาพที่ไร้เกียรติกลางทะเลอันหนาวเหน็บ ฉันจึงยืนอยู่ที่นี่เพื่อทำหน้าที่คืนเกียรติที่พวกเขาพึงมี แม้มันจะน้อยนิดเพียงใดก็ตาม” Dawa กล่าว
หลุมศพนับสิบในบริเวณที่ Dawa ฝังศพนั้นถูกจารึกไว้เพียงไม่ทราบชื่อสกุล สิ่งที่เขียนกำกับไว้ก็มีเพียงแต่อายุโดยคร่าวๆ ของผู้ตาย บริเวณที่พบศพ และหมายเลขตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการชันสูตรศพจากญาติผู้ตาย ในจำนวนอายุที่เขียนกำกับไว้บนแผ่นจารึกหน้าหลุมฝังศพนั้นมีตั้งแต่อายุ 3 ปี 7 ปี และ 12 ปี หนึ่งในนั้นเป็นศพที่เจอในสภาพไร้ศีรษะ
ระหว่างที่เขาระบายถึงความอัดอั้นและผิดหวังต่อเงื่อนไขทางการเมืองและการทหารที่เป็นเหตุให้เกิดวิกฤติผู้ลี้ภัยเหล่านั้น Dawa ได้พยายามดึงจุดสนใจของตัวเองไปยังสิ่งที่จำเป็นมากกว่าในตอนนี้ “เราจำเป็นต้องอดทนให้มาก ณ ตอนนี้ และยังไงฉันก็เชื่อว่าในที่สุดมันจะต้องมีแสงสว่างจุดประกายขึ้นมาจากความอยุติธรรมเหล่านั้น” เขาพูดให้ฟังขณะที่รถแทรกเตอร์เกลี่ยดินกำลังทำการขยายพื้นที่สุสานด้วยการถอนต้นมะกอกออกไป เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับอีกหลายศพที่กำลังจะเข้ามาจากอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมเรืออับปางที่เพิ่งคร่าชีวิตผู้คนอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้
เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกนำมาบอกกล่าวเพิ่มเติมจากอีกด้านของสถานการณ์ความขัดแย้งในซีเรีย เพื่อให้หลายคนได้รับรู้ถึงความคิดริเริ่มและการทุ่มเทของชายคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดฝันว่าตนจะต้องเป็นคนขุดหลุมฝังศพมาก่อนในชีวิตนี้ ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นมนุษย์คนสุดท้ายที่ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะถูกส่งลงไปนอนนิ่งใต้ผืนดิน ทั้งหมดที่เขาทำ เขาเพียงแค่ตระหนักว่าเขาต้องทำมัน และเขาก็อาสารับผิดชอบสิ่งเหล่านั้นโดยไม่รีรอให้มีใครมาร้องขอความช่วยเหลือแต่อย่างใด
แปลและเรียบเรียงโดย : Andalas Farr
ที่มา : Mustafa Dawa – The Muslim Grave Digger Putting the Souls of Refugees to Rest
Cr. http://halallifemag.com/mustafa-dawa/
#สารพันบทความ_Islamic_Society_Online
#ประชาชาติอิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น