product :

วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สงครามครูเสด (ค.ศ 1095-1291)

สงครามครูเสด (ค.ศ 1095-1291)


ครูเสด แปลว่าติดด้วยเครื่องหมายกางเขน คำว่า Crusade ในอีกความหมายหนึ่ง คือนักรบคริสเตียนจากยุโรปที่ไปปฏิบัติการนอกประเทศ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11, 12, และ 13 เพื่อกอบกู้แผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์กลับคืนมาจากมุสลิม ต่อมาคำนี้ใช้หมายถึงสงครามทั่ว ๆ ไปที่พวกคริสต์ต่อต้านพวกนอกศาสนาตามแต่สังฆนายกของโรมจะบัญชาว่าเป็นศัตรูของคริสตจักร อย่างไรก็ตาม ชาวอาหรับในยุคนั้นกลับไม่ได้ใช้ชื่อนี้ แต่เรียกว่า Hurūb al-Faranj แปลว่าสงครามของพวกฟะรันญฺ[1] สงครามครูเสดเกิดขึ้นยาวนานและหลายระลอก ดังต่อไปนี้


1) การสร้างรัฐครูเสดในดินแดนมุสลิมและการยึดเยรูซาเล็ม

ในวันที่ 26 พฤศจิกายน ค.ศ.1095(ฮ.ศ. 487) พระสันตะปาปาได้ประกาศให้ทำสงครามครูเสดต่อพวกนอกศาสนาถือว่าเป็นการเริ่มต้นสงครามครูเสดอย่างเป็นทางการ ชาวคริสต์ทั้งหลายต่างเห็นตรงกันว่าจะใช้กรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นที่รวมพลของพวกเขา เมื่อพวกเขาบุกเข้ามายังเอเชียน้อย(Asia Minor)ก็ต้องถูกสกัดโดยกองทัพของพวกสัลญู้ก ผลสุดท้ายฝ่ายสัลญู้กได้ประสบกับความพ่ายแพ้ กองทัพครูเสดสามารถสร้างรัฐครูเสดในดินแดนมุสลิมได้เป็นรัฐแรกคือดินแดน Edessa ต่อมาสามารถยึดเมือง Antioch ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ครึ่งทางระหว่างคอนสแตนติโนเปิลและเยรูซาเล็ม 

สุดท้ายกองทัพครูเสดก็ได้เดินทางถึงเยรูซาเล็มและสามารถยึดเมืองได้ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1099(ฮ.ศ. 492) หลังจากที่ใช้เวลาปิดล้อมอยู่เพียงแค่เดือนเดียว เมื่อเข้าเมืองได้แล้วพวกเขาจึงเข่นฆ่า ปล้นทรัพย์สิน พวกเขาได้รณรงค์ให้มีการฆ่าอย่างโหดเหี้ยม ชาวมุสลิมต่างหลบหนีออกไปจากดินแดนชาม


2) การสร้างเอกภาพของฝ่ายมุสลิมและการโต้กลับของซันกีย์

ชาวครูเสดสามารถเข้ามาตั้งรัฐตนเองบนดินแดนอิสลามได้ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะอาณาจักรอิสลามต่างอยู่ในสภาพอ่อนแอและไร้เอกภาพ ในช่วงนี้เองราชวงศ์ซันกียะฮฺชาวอะฮฺลุส สุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮฺเติร์กที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่[2]ในปีค.ศ. 1128(ฮ.ศ. 521) ผู้ปกครองคืออิมาดุดดีน ซันกีย์ สามารถสร้างรัฐที่เข้มแข็งและมีเอกภาพ ซึ่งครอบคลุมดินแดนเมาซูลและอะเลปโป อิมาดุดดีนทำการตอบโต้รัฐของพวกครูเสดจากเมืองหนึ่งไปยังเมืองหนึ่ง และชัยชนะครั้งสำคัญคือการยึดเมือง Edessa โดยล้มล้างการปกครองของพวกครูเสดในเมืองนี้ได้สำเร็จในปีค.ศ. 1144 (ฮ.ศ. 538) ความเข้มแข็งของอิมามุดดีน ซันกีย์ เป็นแรงผลักดันสำคัญทำให้เกิดสงครามครูเสดครั้งที่สอง 


ผู้ที่ก้าวมาทำหน้าที่เผชิญหน้ากับครูเสดรอบนี้และมอบความพ่ายแพ้ให้พวกเขาคือ นูรุดดีน ซันกีย์ บุตรชายอิมาดุดดีนที่เข้ามาทำหน้าที่แทนบิดาที่เสียชีวิตไปเพราะถูกลอบสังหาร เขาเป็นผู้ปกครองที่โด่งดังและเรียกความเชื่อมั่นสู่มุสลิมอย่างที่ไม่มีใครทำได้มาก่อน โดยมีเมืองอะเลปโปในชามเป็นเมืองหลวง ตลอดการปกครองยี่สิบปีของเขา เขาสามารถสร้างเอกภาพที่กว้างขวาง รวมดินแดนที่กว้างใหญ่ทั้งในชามและอียิปต์ เขาได้ทำให้ดินแดนของเขาเป็นรัฐที่เต็มไปด้วยบรรยากาศที่เข้มแข็งด้วยอิสลาม 


นูรุดดีน ซันกีย์ได้ทำให้จิตวิญญาณแห่งการญิฮาดของมุสลิมกลับคืนมาอย่างเต็มเปี่ยมอีกครั้งหนึ่ง เป็นการเตรียมประตูชัยชนะครั้งสำคัญของเศาะลาหุดดีนในสมรภูมิหิฏฏีน 

3) ชัยชนะในสมรภูมิหิฏฏีนและการยึดเยรูซาเล็มกลับคืน

ในปี ค.ศ. 1187 (ฮ.ศ. 583) ผู้นำฝ่ายมุสลิมก็มีผู้นำคนใหม่คือ เศาะลาหุดดีน อัล-อัยยูบีย์ ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากนูรุดดีน ซันกีย์ ผู้คุมอำนาจเหนือดินแดนชามถึงอียิปต์ และได้เปิดศึกยึดเยรูซาเล็มกลับคืน จนนำไปสู่สมรภูมิแตกหักที่หิฏฏีน(Hiṭṭīn)กองทัพของเศาะลาหุดดีนประกาศชัยชนะเหนือสมรภูมิหิฏฏีนและได้ยึดกรุงเยรูซาเล็มกลับคืนมาในปีเดียวกัน 

การตอบโต้ครูเสดนี้ได้เขย่าชาติต่าง ๆ ในยุโรปและได้ทำให้กษัตริย์ 3 คนของยุโรป คือกษัตริย์เฟรเดอริก บาร์บารอสซา (Frederick Barbarossa) แห่งเยอรมัน กษัตริย์ฟิลิป ออกุสตุส(Philip Augustus)แห่งฝรั่งเศส และกษัตริย์ริชาร์ด ใจสิงห์ (Richard the Lion-Heart)แห่งอังกฤษออกเดินทางสู่เยรูซาเล็ม[3] แต่พวกเขาก็ไม่อาจบรรลุเป้าหมายของที่ตั้งใจไว้ กษัตริย์เฟรเดอริกจมน้ำตายในแถบเอเชียน้อย กษัตริย์ฟิลิปยกทัพกลับประเทศ ส่วนกษัตริย์ริชาร์ดก็ได้ทำข้อตกลงยุติศึกกับเศาะลาหุดดีน 


สงครามครูเสดทั้งหลายที่ต่อจากครั้งนี้ไม่เป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้น นักรบครูเสดก็ไปไม่ถึงแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งพวกเขาก็ทำแค่ไปล้อมและปล้นสะดมกรุงคอนสแตนติโนเปิล ดังนั้น ความผูกพันระหว่างชาวคริสต์ตะวันออกและตะวันตกถูกทำลายสิ้น สงครามครูเสดทำให้ชาวยุโรปได้มาสัมผัสกับอารยธรรมของมุสลิมสูงกว่า ชาวยุโรปได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปมากมาย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างของชาวยุโรปเอง

 ............................................. 
Abu Hafs เรียบเรียง
 .............................................

เชิงอรรถ 
[1] ฟะรันญฺ เป็นคำที่ชาวอาหรับเรียกชนชาติแฟรงค์ หมายถึงชาวยุโรปตะวันตก 
[2]เดิมแล้วตระกูลอัซ-ซันกียะฮฺเป็นส่วนหนึ่งของระบบการปกครองของราชวงศ์สัลญู้ก ฐานะของอิมาดุดดีนเรียกว่า atabeg เป็นตำแหน่งที่ปกครองเมืองเล็กเมืองน้อยของราชวงศ์สัลญู้ก แต่ในที่สุดเมื่อราชวงศ์สัลญู้กอ่อนแอลงพวก atabeg ก็ปกครองกันอิสระ 
[3]สงครามครูเสดครั้งนี้จึงถูกเรียกว่า Kings' Crusade (ครูเสดของกษัตริย์) ถือว่าเป็นครูเสดครั้งที่สาม


แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/notes/tarikh


#ประวัติศาสตร์อิสลาม_Islamic_Society_Online
Islamic Society Online



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความแนะนำ

World Clock

Featured Posts

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม

เรื่องราวของสองอารยธรรม : อารยธรรมของชาวไวกิ้งและมุสลิม โดย : Cem Nizamoglu และ Sairah Yassir-Deane ย้อนหลังไปถึงมีนาคม 2015 ข่าวเกี่ยวก...